นครศรีธรรมราช - กรมศิลปากรส่งช่างสิบหมู่ และนักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบหาสาเหตุการเกิดคราบสนิมปลียอดทองคำพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีฯ เชื่อเกิดจากสนิมเหล็กที่ทำปฏิกิริยาเคมีกับสียุคใหม่ เตรียมจัดหางบประมาณเข้าบูรณะเร่งด่วน
วันนี้ (15 ม.ค.) ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่กลุ่มงานโลหะประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ เจ้าหน้าที่กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ กรมศิลปากร สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ได้เข้าตรวจสอบทางกายภาพขององค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช โดยเฉพาะบริเวณบัวคว่ำบัวหงายฐานปลียอดทองคำองค์ รวมทั้งบริเวณปล้องไฉนที่พบว่าคราบสนิมที่ไหลเยิ้มลงมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งร่องรอยของการกะเทาะของปล้องไฉน เป็นวงคล้ายลักษณะพื้นผิวปูนกะเทาะล่อนออกมาอย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่ นายธีระชัย จันทรังษี หัวหน้ากลุ่มงานโลหะประณีตศิลป์ สำนักช่างสิบหมู่ ระบุถึงข้อสันนิษฐานว่า เบื้องต้นนั้นอาจเป็น “สนิมเหล็ก” ที่เป็นส่วนประกอบของงานปูนปั้นกลีบบัวคว่ำบัวหงายอาจเป็นสนิม สาเหตุที่ทำให้ขยายวงกว้างนั้นเกิดจากคั่งสะสมของน้ำฝน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในการบูรณะปลียอดทองคำองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ครั้งล่าสุด เมื่อปี 2538 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 20 ปีแล้ว ซึ่งจากการตรวจสอบภาพถ่าย และเอกสารของกรมศิลปากร พบว่า บริเวณบัวคว่ำบัวหงายที่เป็นฐานของปลียอดทองคำ มีโครงเหล็กรัดรอบอยู่ภายในเนื้อคอนกรีต เมื่ออายุการใช้งานเป็นเวลานานอาจจะมีการทำปฏิกิริยากับปูน หรือน้ำฝนที่ซึมเข้าไปภายในทำให้เหล็กเป็นสนิมก็อาจจะเป็นไปได้ อย่างไรก็ตาม จะได้วางแผนในการบูรณะซ่อมแซมตามขั้นตอนต่อไป แต่หากคราบดังกล่าวเกิดจากสนิมเหล็กจริง ต้องมีการบูรณะซ่อมแซมเอาเหล็กออกแล้วหาโลหะที่ใช้แทนเหล็ก และไม่เป็นสนิม คือ พาราเดียม (Palladium) หรือเงินยวง