xs
xsm
sm
md
lg

มุมโรแมนติกของนักอนุรักษ์ “บังหลี” คนปลูกป่าริมฝั่งอันดามัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อารีย์ ติงหวัง หรือ บังหลี (เสื้อสีส้ม) กับเพื่อนๆ ที่มีความคิดเหมือนกัน
 
โดย...ถนอม ขุนเพ็ชร์
 
แม้บุคลิกจะดูดุดัน พูดจาโผงผาง แต่เมื่อ “อารีย์ ติงหวัง” ต้องพูดถึงภรรยาผู้ล่วงลับ เสียงเขาจะสั่นเครือ และน้ำตาคลอเสมอ
 
อารีย์ หรือที่คนเรียกกันว่า “บังหลี” เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 บ้านหลอมปืน อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งเมื่อปี 2556 รับผิดชอบโครงการจัดการอ่าวทุ่งนุ้ยต่อเนื่อง มาถึงปีนี้ ดำเนิน “โครงการกระบวนการจัดการชุมชนเพื่อพัฒนาอ่าวทุ่งนุ้ยสู่การจัดการตนเองบ้านหลอมปืน” ภายใต้การสนับสนุนของโครงการร่วมสร้างชุมชนและท้องถิ่นให้น่าอยู่ สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สสส.
 
บทบาทโดดเด่นทางด้านสิ่งแวดล้อม ล่าสุด เขาได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประจำปี 2557 ประเภทบุคคลผู้มีผลงานโดดเด่น ปลูกป่าชายเลนตามโองการของพระเจ้า
 
ใครจะรู้ว่าการต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ที่ผ่านมาอยู่บนแรงบันดาลใจจากหญิงสาวที่เขารักสุดหัวจิตหัวใจ หล่อนมีชื่อเล่นชื่อเดียวกับอ่าวที่เป็นชีวิตจิตใจของเขา
 
“นุ้ย” ภรรยาของอารีย์มีชื่อจริงว่า “ยามิละห์ ติงหวัง” เสียชีวิตด้วยอาการป่วยไวรัสตับอักเสบบีเมื่อปี 2552
 
อารีย์ เล่าว่า ตอนนั้นเขาทนแบกรับต่อความสูญเสียแทบไม่ไหว กลายเป็นคนเลื่อนลอยนานแรมปี เพราะเธอไม่ใช่เพียงภรรยาแสนประเสริฐ แต่เป็นคู่ชีวิตอันมีอิทธิพลต่อจิตวิญญาณเขาอย่างยิ่ง
 
“พวกเราเป็นชาวประมงพื้นบ้าน เมื่อปี 2545 บังกับภรรยาออกทะเลจับปลา และหาหอยเสียบตามชายฝั่งก็มีแนวคิดว่า ทำอย่างไรที่จะหาไม้พังกา หรือโกงกางไปปลูกในทะเล”
 
เพราะเชื่อว่าหากต้นไม้มีมาก ทรัพยากรสัตว์น้ำน่าจะเพิ่มตามมา สองคนผัวเมียจึงออกหาโกงกาง 100 ฝักลงปลูกป่าชายเลน และปลูกมาเรื่อย คนอื่นเห็นสองคนช่วยกันทำก็หาว่า “บ้า” แต่พวกเขายังปลูกขยายพื้นที่ป่าโกงกางไปถึง 6-7 ไร่ จากพื้นที่อ่าว 30 ไร่
 
เห็นชายหาดเลี่ยนเตียนโล่ง ร้อนแดด ชาวบ้านออกมาหาหาหอยไม่มีที่หยุดพัก พวกเขาหันมาปลูกป่าชายหาด ปี 2548 ฝูงวัวบุกเข้ามากินต้นไม้เกือบหมด ได้ขอบริจาคเงินพี่น้องซื้อลวดหนามกั้น เดือนสิงหาคม 2549 การปลูกซ้ำทำให้ป่างอกงาม
 
ครั้นป่าชายหาดเติบโต มีร่มเงา ใบบัง รกครึ้มน่านั่งพักผ่อนหย่อน มีสิ่งที่ไม่คาดคิดตามมา กล่าวคือ เยาวชนเข้าไปมั่วสุม กินเหล้าเบียร์ และมีพฤติกรรมระหว่างหญิงชายที่ไม่เหมาะสมตามหลักศาสนาอิสลาม จากปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายมาเป็นปัญหาสังคม ผู้ใหญ่อารีย์ จึงของบ สสส.มาแก้ปัญหา
 
“เริ่มจากมีการทำข้อมูล แผนที่ชุมชน หลังจากนั้นจัดค่ายเยาวชนให้กลุ่มที่มีปัญหานั่นแหละ”
 
กิจกรรมค่ายทำให้เห็นภาพปัญหาเยาวชน มีการวิทยากรที่เป็นโต๊ะครูถูกเชิญมาอบรมสั่งสอนผ่านแนวคิดตามหลักศาสนาอิสลามอย่างจริงจัง กลุ่มเป้าหมายในค่ายดังกล่าวจึงเริ่มตื่นขึ้น และคลี่คลายปัญหาจากภายในทีละนิด
 
ใช้กลุ่มเด็กที่สำรวจการใช้ประโยชน์ป่าชายหาด ป่าชายเลนอ่าวทุ่งนุ้ย จากแกนนำเด็ก 15 คน สร้างแนวร่วมเยาวชนเข้มแข็ง 37 คน มีส่วนในการออกระเบียบกติกาชุมชน จากปัญหาที่คนในชุมชนปฏิบัติตัวไม่เหมาะ เช่น หญิงชายอยู่กันโดยทำไม่ถูกต้องตามหลักศาสนา (ซินา), คนที่ไม่มาละหมาดวันศุกร์ 3 ครั้งติดต่อกัน, คนที่เอาเงินกลุ่มไปแล้วไม่ใช้คืน ฯลฯ
 
รวมไปถึงการบริหารจัดการอ่าวทุ่งนุ้ย ซึ่งเป็นพื้นที่ของชุมชน และการที่คณะทำงานเยาวชนนั่งคุย ประชุมกันในป่าทรายของชายหาด ใต้ต้นสน ต้นยูคา หรือโกงกางเป็นประจำ ทำให้คนที่คิดเข้ามาทำอะไรไม่เหมาะสมในบริเวณป่าดังกล่าวก็จะไม่กล้าเข้ามาตรงนั้น
 
เป้าหมายระยะที่ 1 มีผลสำเร็จระดับหนึ่ง เป้าหมายระยะที่ 2 ต้องการทำอ่าวทุ่งนุ้ยเป็นศูนย์เรียนรู้ 3 นิเวศ คือ ป่าชายเลน ป่าชายหาด และบริเวณชายฝั่ง ซึ่งก็คือการดำเนินการ “โครงการกระบวนการจัดการชุมชนเพื่อพัฒนาอ่าวทุ่งนุ้ยสู่การจัดการตนเองบ้านหลอมปืน” ในปีนี้ ส่วนเป้าหมายระยะที่ 3 เป็นการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชน
 
“ที่ผ่านมา คนมองว่าบ้าหรือเปล่านั้นก็รู้สึกน้อยใจ เพราะทำของดี แต่คนมองอย่างนั้น คนที่ให้กำลังใจบังคือ ยามิละห์ ถ้ามีปัญหาอะไรภรรยามาตบบ่าแล้วพูดว่า เรื่องอื่นค่อยพูดกัน ยิ้มซิ..ยิ้มซิ..เขาลากมือผมออกมายืนแล้วพูดว่า นี่ป๊ะทำเพื่ออัลเลาะห์นะ คิดอย่างนี้แล้วสบายใจ”
 
กันยายน 2552 ช่วงเทศกาลฮารีรายอ ลูกหลานออกเที่ยว เขากับนุ้ยผู้เป็นภรรยามานั่งริมทะเล นุ้ยบอกว่า หากในทะเลมีกุ้งหอย ปู ปลา ที่สมบูรณ์ พี่น้องจะได้สบาย
 
เขาคิดว่าสิ่งที่เขาทำได้ทำไปตามโองการของพระผู้เป็นเจ้าที่สร้างมนุษย์ขึ้นมา โองการพระเจ้าบอกว่า สร้างมนุษย์มีวัตถุประสงค์ 2 อย่างคือ เคารพภักดีต่อพระองค์ และมนุษย์ทุกคนเป็นตัวแทนของพระผู้เป็นเจ้าที่จะมาปกครองดูแลโลกใบนี้ คนทำลายทรัพยากรจะได้รับบทลงโทษจากพระผู้เป็นเจ้า
 
“ยามิละห์ ไม่เคยคิดถึงตัวเธอเองนะ ตลอดชีวิตคิดเพื่อคนอื่น นี่เป็นพลังให้บังทำเพื่อชุมชนอยู่ได้ คิดดูสิชาวบ้านคนอื่นเขามีแต่มุ่งแต่เรื่องเงิน วัตถุนิยม มีคน 2 คนมาปลูกต้นไม้คงคิดว่าบ้าแล้ว เป็นงานที่สวนกระแสสังคมเลยในวันนั้น แต่วันนี้กุ้งหอยปูปลามันเกิดประโยชน์ได้แก่ชาวบ้านทุกคน”
 
ระหว่างปี 2545-2552 ผู้ใหญ่อารีย์ ดูแลฟื้นฟูอ่าวเงียบๆ กับภรรยา ทุกวันนี้มีคนเข้ามาช่วยเป็นกลไกใหม่ในชุมชน
 
“ยามิละห์ เคยบอกบังว่า ถ้าจะถูกหาว่าโง่บ้าง จะแปลกอะไร ทำเพื่ออัลเลาะห์แล้วก็สบายใจ เขามากี่คนก็เรื่องของเขา ไม่มาก็เรื่องของเขา แต่เรามีความสุขใจอย่างแปลกประหลาดที่สุด”
 
ก่อนแต่งงาน บังหลีอกหักมา 3-4 ครั้งซ้อน เลยเกลียดผู้หญิง จังหวะติดทหารเกณฑ์จึงคิดสมัครทหารพรานต่อ พ่อของเขากลัวว่าลูกชายจะเตลิดเสียศูนย์ เลยประกาศขอเมียให้อารีย์
 
“บังสวนกลับว่า ถ้าสาวละงูไม่เอาอีกแล้ว พ่อเลยไปขอสาวชาวท่าแพให้ ทีนี้จึงมิอาจปฏิเสธ ทุกอย่างเป็นไปตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้า และท่านได้ที่มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้”
 
หลังภรรยาเสียชีวิต ขาดคู่คิดร่วมทำ และท้อถอย แต่พอมานึกว่าขณะนี้อย่างน้อยก็มีทีมงานส่วนหนึ่งเกิดขึ้น จากที่เราทำให้เขาเห็น และยอมรับขึ้นมาทีละนิด
 
“ทั้งหมดบังยกให้ภรรยาผมเป็นพลังสำคัญ ทุกวันนี้แม้ว่าเขาเสียชีวิตไปแล้ว แต่รู้สึกว่าเธอยังอยู่ข้างๆ ตลอด ทำให้เรามีพลังเพิ่มขึ้นมาอีก สิ่งที่ขอจากพระเจ้าก็คือ หลังจากตายก็ขอให้พบภรรยาในโลกหน้า เพื่อบอกเธอว่าภรรยาได้ทำในสิ่งที่เธอฝันไว้สำเร็จแล้ว”
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น