xs
xsm
sm
md
lg

"อยากให้เราพบกันในวันที่สวยงาม และเก็บความทรงจำดีๆนั้นไว้" สิ้น “ถวัลย์ ดัชนี” เจ้าของ “บ้านดำ” แห่งดอยนางแล จ.เชียงราย ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์(จิตรกรรม) ปี 44

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ART EYE VIEW---พ่อไม่ต้องกังวล เพราะพ่อจะไม่ไปไหน พ่อจากไปแต่เพียงร่างกายแต่ผลงานศิลปะที่มาจากหัวใจ จิตวิญญาณ และลมหายใจที่พ่อสร้างทิ้งไว้จะเป็นอมตะตลอดกาล พ่อคือผู้สร้างและลูกคือผู้รักษา หลับให้สบายนะพ่อ เลือดของพ่อยังไหลเวียนในกายลูกเสมอ และเราจะพบกัน...รักพ่อสุดหัวใจ

กราบเท้าพ่อเป็นครั้งสุดท้าย
3/9/14
ดอยธิเบศร์ ดัชนี

ข้อความข้างต้นคือข้อความที่ ม่องต้อย - ดอยธิเบศร์ ดัชนี โพสต์ผ่าน Facebook ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2557 เพื่อบอกกล่าวให้คนทั่วไปซึ่งติดตามให้กำลังใจ ได้ทราบถึงการเสียชีวิตของผู้เป็นพ่อ หลังจากที่ก่อนหน้านี้พกวเขาได้ทราบว่า ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์(จิตรรกรรม) เจ้าของ บ้านดำ แห่งดอยนางแล อ.เมือง จ.เชียงราย ได้ล้มป่วยลง

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2557 ม่องต้อย - ดอยธิเบศร์ ก็ได้โพสต์ข้อความให้กำลังใจผู้เป็นพ่อและตัวเอง รวมไปถึงเพื่อเป็นการชี้แจ้งรายละเอียดให้ทุกคนได้ทราบไปในคราวเดียวกันถึงอาการป่วยของผู้เป็นพ่อเช่นกันว่า

"อดทนนะพ่อ" มันคงไม่มีอะไรสะเทือนหัวใจและความรู้สึกได้มากเท่ากับ การได้เห็นคนที่เรารักทุกข์กายและใจ ตั้งแต่ผมจำความได้ ผมไม่เคยได้ยินพ่อบ่น หรืออ่อนแอให้เห็น พ่อเข้มแข็งมาก สองเดือนกว่าที่ผ่านมาพ่อค้นพบว่าตัวเองป่วยหนักแต่เราตัดสินใจปิดข่าว เพราะอยากให้พ่อได้รับการรักษาและพ่อเองก็ไม่อยากให้ใครมาเห็นสภาพยามที่เจ็บป่วย

พ่อเคยบอกว่า "อยากให้เราพบกันในวันที่สวยงามและเก็บความทรงจำดีๆนั้นไว้"

ตั้งแต่วินาทีที่รู้ว่าพ่อป่วยหนัก หัวใจผมแทบสลาย เหมือนฟ้าและแผ่นดินแยกออกจากกัน ตั้งแต่วันนั้นไม่มีคืนไหนที่จะได้หลับอย่างสนิทใจ มันเป็นช่วงวินาทีที่ทุกข์ทรมานที่สุด จนไม่อาจจะบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้

ผมเก็บเรื่องนี้ไว้เงียบๆเป็นเดือน แต่ก็มีน้องๆที่รักกันถามว่า "พี่มีอะไรไม่สบายใจหรือเปล่า" ผมไม่เคยบอกใคร เพราะปกติจะเป็นคนชอบให้กำลังคนอื่นๆเสมอ ในยามที่เราเจอภาวะวิกฤตเราก็ต้องให้กำลังใจตัวเองให้มากที่สุด เราต้องเข้มแข็ง เราตัองอดทน ผมไม่เคยบ่นลงในหน้าเฟส เพราะมันไม่มีประโยชน์อันใด

วันนี้ผมไปเยี่ยมพ่อ พ่ออาการไม่ค่อยดีจากอาการตับอักเสบติดเชื้อตัวบวม หมอพยายามช่วยอย่างสุดความสามารถ และทำทุกวิถีทางให้พ่อดีขึ้น ผมถามเสมอว่าพ่อเป็นไงบ้าง พ่อตอบว่า "ไม่เป็นไร" "จิ๊บจ้อย" มื้อเย็นผมพยุงพ่อมานั่งที่โต๊ะ ให้พ่อทานข้าว วันนี้พ่อบอกทานได้มากที่สุดละ ผมจับมือพ่อและพูดว่า "อดทนนะพ่อเราจะผ่านมันไปให้ได้"

ที่ผมออกมาพูดเพราะอยากจะชี้แจงข้อเท็จจริง เนื่องจากข่าวมีหลายกระแส บางแหล่งบอกว่าพ่อตายแล้ว บางแหล่งบอกว่าพ่อป่วยหนัก ผมอยากบอกว่า ขอขอบพระคุณทุกน้ำใจ ทุกความห่วงใย ตอนนี้พ่อกำลังรักษาตัว หมอสั่งงดเยี่ยม ให้คนไข้ได้พักเต็มที่นะครับ หวังว่าพ่อจะดีขึ้นจนกลับมาสร้างผลงานให้พวกเราทุกคนได้เห็นกันเร็วๆนี้นะครับ

11/8/14
ดอยธิเบศร์ ดัชนี

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ม่องต้อย - ดอยธิเบศร์ ทายาทเพียงคนเดียวของถวัลย์ได้แจ้งว่า จะมีพิธีพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในวันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557 เวลา 13.00 น. ณ ศาลา 1 วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร โดยท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ เป็นผู้แทนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานในพิธี และกำหนดสวดพระอภิธรรมศพวันที่ 4-9 กันยายน พ.ศ.2557 เวลา 19.00 น. และพระราชทานเพลิงศพในวันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ.2557 เวลา 17.00 น.เมรุวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร

ขณะที่ "สมาคมเขียนภาพคล้ายคน" โมงยามนี้อุทิศพื้นที่ให้กับการเขียนภาพ "ถวัลย์ ดัชนี"



ประวัติ ถวัลย์ ดัชนี

ถวัลย์ ดัชนี เกิดเมื่อ 27 กันยายน พ.ศ. 2482 ที่ จ.เชียงราย เป็นบุตรของนายศรี และนางบัวคำ (พรหมสา) ดัชนี ได้รับการศึกษาชั้นมูลและระดับประถมที่โรงเรียนเชียงรายวิทยาคม ต่อมาบิดาย้ายมาปฏิบัติงานสรรพสามิตที่อำเภอเมืองพะเยา จึงเรียนต่อชั้นประถมที่โรงเรียนบุญนิธิซึ่งตั้งอยู่ริมชายกว๊านพะเยา และชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนพะเยาพิทยาคม เมื่อบิดาย้ายกลับเชียงรายจึงเข้าเรียนจนจบชั้นชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคมจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ของสมัยนั้น

ถวัลย์มีแววด้านการวาดรูปมาตั้งแต่ชั้นมูลและชั้นประถม สามารถวาดตัวละครรามเกียรติ์ได้เกือบทุกตัว นอกจากจะมีความจำเป็นเลิศสามารถจำชื่อเพื่อนร่วมชั้นได้ทุกชั้นปีทั้งที่เชียงรายและพะเยาแล้ว เมื่อถวัลย์มีอายุ 8-9 ขวบก็มีความคิดแผลงๆ จำเรื่องนายมั่นนายคงจากละครวิทยุปลุกใจยุคปลายและหลังสงคราม เที่ยวชักชวนเพื่อนกรีดเลือดสาบานไปอยู่ดงพญาเย็นด้วยกันเมื่อโตขึ้นเป็นต้น

เมื่อจบชั้นมัธยม 6 ที่เชียงราย ถวัลย์ก็ได้รับทุนมาเรียนต่อที่ โรงเรียนเพาะช่าง และได้เป็นนักเรียนดีเด่น ด้วยฝีมือการวาดรูปที่แม่นยำ เฉียบคม ฉับไว จึงเป็นหนึ่งในนักเรียนเพาะช่างดีเด่นด้านจิตรกรรม ที่ผลงานได้รับการคัดเลือกไปแสดงในหอศิลป์แห่งชาติ นครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้น ถวัลย์ ดัชนี จึงเข้าศึกษาต่อที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้เป็น "ศิษย์รุ่นท้ายๆ ของ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี"

ตอนเรียนอยู่ที่ศิลปากรในชั้นปีที่ 1 ถวัลย์ ดัชนี ทำคะแนนการวาดรูปได้ถึง 100+ แต่เมื่อขึ้นปี 2 เขากลับทำได้แค่ 15 คะแนน เพราะเหตุผลที่ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้ไว้ว่า ปลาของนายไม่มีกลิ่นคาว นกของนายแหวกว่ายไปในอากาศไม่ได้ ม้าของนายไม่สามารถที่จะควบหรือวิ่งทะยานออกไปได้ นายเป็นเพียงแค่นักลอกรูป มันไม่ใช่งานศิลปะ

คำวิจารณ์ของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีดังกล่าวนี้ทำให้ถวัลย์ ดัชนี เปลี่ยนแปลงการทำงานทุกอย่างใหม่หมด เมื่อคิดและดำรงอยู่ในวิถีทางแห่งศิลปะได้แล้ว เขาจึงได้รับการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้สอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้านสาขาจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และในระดับปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปะอัมสเตอร์ดัม ที่แห่งนี้เองที่ถวัลย์ได้เรียนร่วมชั้นเดียวกันกับนักเรียนต่างชาติ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีศิลปินแห่งชาติเกิดขึ้น 3 คนจากสถาบันแห่งนี้ นั่นคือ ศิลปินแห่งชาติของอินโดนีเซีย ด้านการแกะสลัก, ศิลปินแห่งชาติของอเมริกา ชาวสวิตเซอร์แลนด์ นามว่า Giger (ไกเกอร์ หรือ กีเกอร์ ถ้าอ่านแบบเยอรมัน) ซึ่งเป็นศิลปินที่วาดรูปออกแนวอวกาศและเป็นผู้ออกแบบเอเลี่ยน และศิลปินแห่งชาติของไทย ถวัลย์ ดัชนี

เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น รูปเขียนขนาดใหญ่ของเขาหลายรูปถูกนักเรียนกรีดทำลาย ด้วยเหตุที่ว่างานของเขานั้นดูหมิ่นพระพุทธศาสนา ทำให้ถวัลย์ ดัชนี เลิกแสดงผลงานในประเทศไทยไปนานหลายปี กว่าคนไทยจะยอมรับได้ เขาก็ต้องเดินตากแดดตากฝนนานอยู่ถึง สามสิบกว่าปี ในปัจจุบันผลงานของเขาได้รับการยอมรับ และได้รับการยกย่องชื่นชมว่าเป็นงานศิลปะชั้นเลิศ อีกทั้งเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมงานศิลปะทั่วไปอีกด้วย

ถวัลย์ ดัชนี ได้ฝากศิลปะไทยจิตวิญญาณตะวันออกของเขา ไว้ในหลายๆ ที่ในโลก "ผลงานบางส่วนถูกเขียนขึ้นในปราสาทที่มีถึง 500 ห้อง ในประเทศเยอรมนี ซึ่งมีชื่อว่าปราสาทกอททอฟ (Gottorf Castle) " ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่ปราสาทนี้ไม่เปิดให้ใครได้เข้าชมแล้ว เพราะอากาศที่หนาวเย็นจะทำให้มีหยดน้ำมาเกาะบนกำแพง ทำให้ภาพเสียหาย แต่รายการโทรทัศน์ที่ได้เข้าไปถ่ายทำเป็นรายการสุดท้ายนั่นคือ รายการชีพจรลงเท้า

ยามว่างจากการเขียนรูป ถวัลย์ ดัชนีจะเดินไปในป่าเพื่อหาเขากวางที่ผลัดแล้วมาเก็บไว้ เพื่อเป็นเครื่องลับจินตนาการให้เฉียบคมอยู่ตลอดเวลา

ปัจจุบัน ก่อนจะล้มป่วยลงและเสียชีวิตในที่สุด ได้ทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้กับศิลปินรุ่นใหม่ ด้วยการใช้บ้านดำ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย เป็นสถานที่จัดกิจกรรม ร่วมทั้ง เดินทางไปบรรยายและให้ความรู้ร่วมกับศิลปินแห่งชาติท่านอื่นๆ ทั่วประเทศไทย

และระหว่างวันที่ 13 - 15 ธันวาคม พ.ศ.2556 เพิ่งจัดงานฉลองครบรอบ 74 ปี ของตนเอง ณ สยามพารากอน

ซึ่งภายในงานมีการแสดงพร้อมประมูล ผลงานศิลปะของ 7 ศิลปิน ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก ถวัลย์ ดัชนี,เปิดตัวหนังสือภาพถ่ายบ้านดำ และเปิดตัวเหรียญ "สุริยภูมิจักรวาล" ที่ตนเป็นผู้ออกแบบ ( หลังจากที่เมื่อมีอายุ 73 ปี เคยออกแบบและเปิดตัวเหรียญ "ปฐมภูมิจักรวาล" ) ตลอดจน ศิลปะการแสดง,ดนตรี,แฟชั่นโชว์ และการจำหน่ายของที่ระลึกอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการครบรอบ 74 ปี

ถวัลย์ ดัชนี ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2544


“คนตะวันตกมีวิถีทางในการคิดและทำงานศิลปะอย่างไร แล้วให้พวกเราได้ย้อนกลับมาดูว่า เราซึ่งเป็นคนตะวันออกคิดอย่างไร เพื่อที่ในที่สุดจะได้นำความคิดของคนตะวันตก มาผสมผสานกับตะวันออก แล้วสร้างเป็นงานศิลปะร่วมสมัยที่สามารถหายใจได้ใน พ.ศ.นี้ ของเรา

ไม่ใช่ว่า กลับมาทำเหมือนในสมัยอยุธยาตอนต้นหรือตอนปลาย สุโขทัย หรือรัตนโกสินทร์ แต่กลับมาทำงานศิลปะอย่างคนที่รู้จักตน รู้จักคนอื่นรู้จักเขา รู้จักเรา และอยู่ในโลกนี้ได้อย่างสมบูรณ์"

ถวัลย์ ดัชนี กล่าวให้สัมภาษณ์กับ ART EYE VIEW ไว้คราหนึ่ง ใน "ค่ายเยาวชนสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัย (สาขาทัศนศิลป์)" ณ บ้านดำ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย ก่อนจะมีการคัดเลือกเยาวชนที่มีผลงานโดดเด่นไปศึกษาดูงานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา



ส่งข่าวสารงานศิลปะร่วมสมัย มาได้ที่ ข่าว ART EYE VIEW ของ www.astvmanager.com และ ART EYE VIEW เซกชัน Lite ในหนังสือพิมพ์ ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ Email: thinksea@hotmail.com

และคลิกเป็น แฟนเพจ ได้ที่ http://www.facebook.com/arteyeviewnews


กำลังโหลดความคิดเห็น