รายงานโดย...ศูนย์ข่าวหาดใหญ่
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South) สรุปสถิติการเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ข้อมูล ณ วันที่ 19 ธ.ค.2557 พบว่า ในรอบ 10 ปี 8 เดือน ที่ไฟใต้ระลอกใหม่ปะทุขึ้นมา โดยนับจากเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายทหารที่ จ.นราธิวาส หรือตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2547 ที่ผ่านมานั้น เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นแล้ว 14,456 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 6,207 ราย และได้รับบาดเจ็บ 11,248 ราย
ทั้งนี้ ในรอบปี 2557 ที่ผ่านมา รูปแบบการก่อเหตุของกล่มก่อความไม่สงบยังคงมุ่งโจมตีพื้นที่ทางเศรษฐกิจ โดยโจมตีด้วยระเบิดแสวงเครื่องประกอบกับรถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์ โดยในช่วงกลางปี 2556 กลุ่มก่อความไม่สงบสามารถขยายพื้นที่การก่อเหตุไปสู่เมืองเศรษฐกิจที่สำคัญอย่าง จ.ภูเก็ตได้ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถตรวจพบระเบิดแสวงเครื่องที่ประกอบมากับรถยนต์ได้ก่อน แผนการดังกล่าวก็จะประสบผลสำเร็จ และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาคใต้อย่างหนักแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ ในที่สุดกลุ่มก่อความไม่สงบก็สามารถขยายพื้นที่เป้าหมายก่อเหตุในพื้นที่ใหม่ได้สำเร็จ และถือเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่สำคัญบริเวณแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย นั่นคือ การลอบวางระเบิดป้อมจุดตรวจหน้า สภ.ปาดังเบซาร์, สภ.สะเดา และหน้าโรงแรมโอลิเวอร์ บ้านด่านนอก หมู่ 7 ต.สำนักขาม อ.สะเดา จ.สงขลา เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2556 มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
นั่นคือเหตุการณ์ในปลายปี 2556 และถัดจากนั้นไม่ถึง 5 เดือน ในวันที่ 7 มี.ค.2557 แผนพูดคุยสันติภาพภาคใต้ที่หลายฝ่ายจับตามองว่าจะดำเนินต่อไปอย่างไร ก็เป็นอันถึงคราวต้องสะดุดลง เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ นายถวิล เปลี่ยนศรี กลับมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทำให้ พล.ท.ภารดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.และหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพกับขบวนการบีอาร์เอ็น โครออดิเน็ต ในขณะนั้นต้องโยกย้ายไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
ตอนนั้นทำให้แผนการพูดคุยสันติภาพเท่ากับต้องนับ 1 ใหม่อีกครั้ง ในสถานการณ์ที่ความรุนแรงช่วงต้นปี 2557 ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีแต่อย่างใด เพราะยังคงมีเหตุร้ายเกิดขึ้นแบบรายวัน
ในขณะที่แผนการพุ่งเป้าโจมตีพื้นที่ทางเศรษฐกิจยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง จนในที่สุดกลุ่มก่อความไม่สงบสามารถก่อเหตุในเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจอย่าง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จนสำเร็จอีกครั้ง นั่นคือ เหตุการณ์ลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์บริเวณลานจอดรถภายใน สภ.หาดใหญ่ และบริเวณหน้าร้านสะดวกซื้อ ถ.พลพิชัย ต.หาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2557 แรงระเบิดทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 10 ราย โชคดีที่ไม่มีใครเสียชีวิต
แต่เหตุการณ์นี้ได้สั่นคลอนฐานเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้อย่างหนักอีกครั้ง ทั้งยังทำให้เกิดคำถามถึงความพร้อมในการรักษาความสงบพื้นที่ เพราะขนาดสถานที่ราชการอย่างสถานีตำรวจก็ยังไม่รอดจาการถูกโจมตี
นายธีรวุฒิ อ่อนดำ นักวิชาการประจำศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ระบุว่า เหตุร้ายในครั้งนั้นไม่ได้เป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นในเมืองหาดใหญ่ และอาจไม่รุนแรงเท่าสถานการณ์ในช่วงปี 2555 แต่ก็สร้างความตื่นตระหนกให้แก่คนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวพอสมควร
เนื่องเพราะ จ.สงขลา เป็นจังหวัดที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด เมื่อเทียบกับทุกจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ วัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) โดยมีมูลค่ารวมปี 2556 เท่ากับ 208.81 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.78 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งประเทศ (GDP)
ขณะเดียวกัน จ.สงขลา ยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางมาท่องเที่ยวได้ปีละนับล้านคน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวปีละนับหมื่นล้านบาท โดยข้อมูลสถิติจากกรมการท่องเที่ยว พบว่า ไตรมาส 4/2556 จ.สงขลา มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวรวม 901.27 พันคน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นมูลค่ามากถึงปีละ 7.47 พันล้านบาท
นักวิชาการประจำศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 พ.ค.2557 ในด้านธุรกิจท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน ได้รับผลกระทบไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท
จนกระทั่งวันที่ 22 พ.ค.2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น นำกำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งอยู่ภายใต้กรงเล็บของระบอบทักษิณ ส่งผลให้ทุกพื้นที่ของประเทศไทยตกอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกเช่นเดียวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
และถัดจากนั้น ในวันที่ 24 พ.ค.2557 ก็เกิดเหตุร้ายรุนแรงขึ้น โดยกลุ่มก่อความไม่สงบได้ลอบวางระเบิดสถานที่ราชการ และร้านสะดวกซื้อใน จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส รวม 15 จุด มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 50 ราย เสียชีวิต 3 ราย หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า เป็นการก่อความไม่สงบต้อนรับ คสช.ที่เพิ่งเข้ามาใช้อำนาจในฐานะองค์รัฏฐาธิปัตย์ได้เพียง 2 วัน
แต่อย่างไรก็ตาม การเข้ามายึดอำนาจรัฐของ คสช.ทำให้หลายคนแอบหวังลึกๆ ว่านอกจากจะช่วยทำให้วิกฤตทางการเมือง โดยเฉพาะการชุมนุมยืดเยื้อยาวนานของ กปปส.ถึงเวลาจบสิ้นลงไปเสียที อีกด้านหนึ่งหลายคนหวังว่า ทหารน่าจะช่วยให้เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้คลี่คลายไปในทางที่ดีด้วย
เพราะต่อมา ในเดือน มิ.ย.2557 คสช.ได้สั่งการให้คณะทำงานชุดปราบปรามภัยแทรกซ้อน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เข้าตรวจค้นสำนักงาน บ้านพัก และควบคุมตัว นายสหชัย เจียรเสริมสิน หรือ “เสี่ยโจ้” พ่อค้าน้ำมันเถื่อนรายใหญ่ใน จ.ปัตตานี ที่ถูกจับตามองว่าเครือข่ายธุรกิจของเขามีส่วนสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบ ไปทำการสอบสวน และอายัดทรัพย์สินไว้ตรวจสอบหลายรายการ
สำหรับเหตุการณ์ครั้งนั้น ในมุมมองของประชาชนทั่วไปมองว่า นั่นเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่น่าจะส่งผลดีต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ในระดับหนึ่ง
แต่แล้วต่อมา วันที่ 25 ก.ค.2557 ความหวังของใครหลายคนก็พังทลายลง เมื่อกลุ่มก่อความไม่สงบลอบวางระเบิดคาร์บอมบ์หน้าโรงแรมฮอลิเดย์ ถ.ภักดีดำรงค์ เขตเทศบาลเมืองเบตง อ.เบตง จ.ยะลา ส่งผลให้เกิดเพลิงไหม้อาคาร 2 หลัง เป็นบ้านเรือนประชาชน 1 หลัง และร้านสะดวกซื้อ 7-11 จำนวน 1 หลัง มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์นี้ทั้งหมด 52 ราย บาดเจ็บสาหัส 6 ราย
นับเป็นครั้งแรกที่เกิดเหตุลอบวางระเบิดคาร์บอมใน อ.เบตง จ.ยะลา ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญเทียบได้กับ อ.หาดใหญ่ และ อ.สะเดา จ.สงขลา และเหตุการณ์นี้ได้ฉุดให้เศรษฐกิจของภาคใต้ต้องตกต่ำลงไปอีกครั้ง
จากนั้นเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงเกิดขึ้นแบบรายวัน ทั้งการลอบยิงเจ้าหน้าที่ ประชาชน ครู นักเรียน พระสงฆ์ และผู้นำศาสนาอิสลาม รวมทั้งลอบวางระเบิดสถานประกอบการร้านค้าหลายครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
จนกระทั่งปลายปี 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ได้เดินทางไปประเทศมาเลเซีย เพื่อฟื้นฟูแผนการพูดคุยสันติสุข (ฝ่ายทหารให้เปลี่ยนจากกระบวนการพูดคุยสันติภาพ เป็นสันติสุข โดยให้เหตุผลว่า สันติภาพเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ขณะที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอ้งการเพียงสันติสุข) กับขบวนการบีอาร์เอ็นฯ อีกครั้ง และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีการทลายแก๊งสีกากีนำโดย พล.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย 1 ในข้อกล่าวหาคือ การรับส่วยจากธุรกิจน้ำมันเถื่อน ทั้งในเครือข่ายของเสี่ยโจ้ และเครือข่ายอื่นๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
แม้สุดท้ายแล้วตัวเสี่ยโจ้ จะสามารถหลบหนีคดีความต่างๆ ไปได้อย่างมีเงื่อนงำ แต่การทลายแก๊งตำรวจสอบสวนกลางครั้งนี้ ก็ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความหวังอีกครั้งว่า จะเป็นผลดีต่อการแก้ปัญหาความไม่สงบได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น นอกเหนือจากภัยแทรกซ้อนจากขบวนการค้าของผิดกฎหมาย ซึ่งเข้ามาผสมโรงสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่แล้ว หลายคนเชื่อว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนนั้นมีอยู่จริง ทั้งโครงสร้าง ตัวบุคคล และแผนการที่จะนำไปสู่เป้าหมาย
ดังนั้น การปราบปรามภัยแทรกซ้อน และแผนการพูดคุยสันติสุข ซึ่งทั้งสองสิ่งนี้จะดำเนินไปควบคู่กับการปราบปรามแนวร่วมขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภายใต้ อันเป็นนโยบายของ คสช. จึงเป็นความหวังให้แก่ประชาชนในพื้นที่ที่ต่างตั้งหน้าตั้งตาเฝ้ารอดูว่า ในปี 2558 ไฟใต้จะคลี่คลายไปในทางที่ดีตามที่ พล.อ.ประวิทย์ วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ลั่นวาจาไว้หรือไม่?!