ตรัง - เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง พร้อมนักบินพารามอเตอร์ ยกทีมลงติด “ไมโครชิป” หรือเครื่องหมายดาวเทียมให้แก่พะยูน สัตว์อนุรักษ์ชื่อดังแห่งท้องทะเลตรัง เพื่อประโยชน์ในการศึกษาทางด้านวิชาการ แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ เหตุจากประสบปัญหาสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ และนักบินพารามอเตอร์
วันนี้ (1 ธ.ค.) นายมาโนช วงษ์สุรีรัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง ได้นำเจ้าหน้าที่ พร้อมเรือ 7 ลำ ลงไปยังบริเวณหาดหยงหลำ ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง เพื่อดำเนินการติดไมโครชิป หรือเครื่องหมายระบบดาวเทียมให้แก่พะยูน สัตว์อนุรักษ์ชื่อดังที่หลงเหลืออยู่ฝูงใหญ่ที่สุดในท้องทะเลตรัง เพื่อจะได้ติดตามพฤติกรรม เส้นทางอยู่อาศัย และแหล่งหากิน ซึ่งหากสำเร็จก็จะถือเป็นนักวิชาการชุดแรกของประเทศไทย หลังจากที่เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต นำโดย ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก พร้อมกับนักวิชาการจากประเทศญี่ปุ่น ได้ลงมาดำเนินการติดไมโครชิปให้แก่พะยูน ที่บริเวณเกาะลิบง อำเภอกันตัง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
โดยเริ่มต้นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ได้วางแผนนำเรือ 2 ลำ ออกไปตระเวนหาพะยูน ในแหล่งที่ชอบมาหากินหญ้าทะเล บริเวณหาดหยงหลำ แต่ดูเหมือนว่า พะยูน จะรู้ตัว จึงว่ายน้ำหลบหนีหายไปจากเส้นทางปกติ ดังนั้น หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จึงประสานขอทีมพารามอเตอร์จากอำเภอกันตัง 2 ลำ มาบินวนเหนือท้องฟ้า เพื่อให้ช่วยทำการชี้จุดที่พบพะยูน แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากเกิดปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างนักบินกับเจ้าหน้าที่ และต่อมา พารามอเตอร์ก็เกิดเครื่องยนต์ติดขัดจนบินขึ้นไม่ได้ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จึงกลับมาใช้แผนนำเรือทั้งหมดออกตามหาพะยูน เมื่อพบเป้าหมายจึงได้ทำการล้อมด้วยอวน แต่หลายครั้งก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากพะยูนไหวตัวหลบหนีไปเสียก่อน จึงได้ยกเลิกภารกิจ
นายมาโนช วงษ์สุรีรัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม กล่าวว่า การติดไมโครชิปให้แก่พะยูนในครั้งนี้มีอุปสรรคหลายอย่าง เช่น ปัญหาการสื่อสารระหว่างนักบินพารามอเตอร์ กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งแม้บางจุดจะเจอพะยูนแต่ไม่สามารถลงไปปฏิบัติภารกิจได้ เนื่องจากมีระดับน้ำลึกมาก หรือกว่าที่เรือเจ้าหน้าที่จะวิ่งไปถึง พะยูนก็ว่ายน้ำหลบหนีไปแล้ว และสามารถหลุดรอดอวนที่ล้อมเอาไว้ จึงได้นำปัญหาต่างๆ เหล่านี้มาประมวลผลเพื่อวางแผนดำเนินการติดไมโครชิปในครั้งต่อไป ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการอนุรักษ์พะยูน รวมไปถึงสัตว์ทะเลหายากชนิดอื่นๆ เช่น โลมา เต่า ที่แม้จะมีอยู่เป็นจำนวนมากในท้องทะเลอันดามัน แต่ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกับพะยูน คือ พบการตายในแต่ละปีจำนวนค่อนข้างจะสูง