ตรัง - หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เผยพบมีการใช้ผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวภายในอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม มากเกินไป จนอาจจะกระทบต่อการอนุรักษ์ โดยเฉพาะพะยูน เต่าทะเล และหญ้าทะเล ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
นายมาโนช วงษ์สุรีรัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม กล่าวว่า เนื่องจากอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่แรมซาไซด์ หรือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ดังนั้น การใช้พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะบริเวณเกาะลิบง และหาดหยงหลำ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพะยูนฝูงใหญ่ที่สุดของประเทศไทย รวมทั้งเป็นแหล่งทรัพยากรอาหารของพะยูน คือ หญ้าทะเล ที่ยังมีความสมบูรณ์มากที่สุด จึงไม่เห็นควรนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว หรือธุรกิจการท่องเที่ยวมากจนเกินไป แต่ควรเน้นหนักนำพื้นที่ไปไปใช้ประโยชน์ในด้านการอนุรักษ์ให้มากกว่า
สำหรับกรณีที่ในช่วงปี 2555-2556 ได้มีพะยูนตายลงไปในท้องทะเลตรัง หรือในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ประมาณ 15 ตัวนั้น จากการตรวจสอบพบว่า สาเหตุที่ตายส่วนใหญ่เกิดมาจากการทำประมง โดยเฉพาะเบ็ดราไว และเบ็ดราว รวมทั้งอวนน้ำตื้นของชาวประมงพื้นบ้าน นอกจากนั้น ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ยังมีหาดทรายที่มีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่อยู่จำนวนหลายจุดด้วย
แต่ที่ผ่านมา สัตว์ทะเลหายากเหล่านี้กลับมีความเสี่ยงที่จะเกิดการสูญพันธุ์ค่อนข้างสูง หากทุกหน่วยไม่ให้ความสำคัญ และไม่ระมัดระวังด้านการอนุรักษ์ โดยเฉพาะการที่ผู้คนบางกลุ่มยังมีความเชื่อแบบผิดๆ ต่อสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้