ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กสทช.ร่วมกับสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย (สนต.) จัดงานเสวนา “ความจำเป็นของโครงข่ายมือถือยุค 3 G กับการพัฒนาท้องถิ่น” พร้อมแจงสัญญาณโทรศัพท์เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีพลังงานต่ำ ซึ่งองค์การอนามัยโลกจัดให้อยู่ในประเภทเดียวกับแสงแดด แต่จะมีผลในเรื่องของความร้อนจากพฤติกรรมของผู้ใช้แต่ละราย
วันนี้ (18 พ.ย.) ที่โรงแรมบุรีศรีภูฯ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ร่วมกับสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย (สนต.) จัดงานเสวนา “ความจำเป็นของโครงข่ายมือถือยุค 3 G กับการพัฒนาท้องถิ่น” โดยมี นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ร่วมให้การต้อนรับ
โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วย ดร.ปรีชา รักษาชาติ และนายบวร มากนาคา ผู้บริหารจากสำนักมาตรฐานและเทคโนโลยีโทรคมนาคม กสทช. ผศ.ดร.ชาญไชย ไทยเจียม กรรมการสมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย นายสมพร สิริโปราณานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา นายสนิท จินดาวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเทพชุมนุม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายภานุมาศ สุขขัง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทับช้าง อ.นาทวี จ.สงขลา และมีสื่อมวลชนทุกแขนงในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 80 คน
สำหรับงานเสวนาในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการสื่อสารในระบบ 3 G ไปพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ เพิ่มขีดความสามารถของชุมชนท้องถิ่น พร้อมสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และความปลอดภัยของคลื่นเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เป็นการตอกย้ำบทบาทเครือข่ายคลื่น 3G ในการส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และบริการสาธารณสุขชุมชน เพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับคนไทยในทุกพื้นที่ของประเทศ ทั้งนี้ หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจที่ทางเวทีเสนาได้นำมาพูดคุยกัน คือ เรื่องคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสา หรือสถานีรับส่งสัญญาณโทรศัพท์มีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ ซึ่งประชาชนชนในหลายพื้นที่มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดกระแสการต่อต้านจากชุมชนในการขยายโครงข่ายสัญญาณโทรศัพท์ของผู้ให้บริการในแต่ละค่าย
ซึ่งทาง ผศ.ดร.ชาญไชย ไทยเจียม กรรมการสมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย ได้ชี้แจงว่า ในทางทฤษฎีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีพลังงานต่ำ (Non-ionizing radiation) ซึ่งเป็นย่านความถี่ที่ใช้ในโทรศัพท์มือถือ วิทยุกระจายเสียง และสัญญาณไวไฟที่ใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สายนั้นจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ แต่มีผลกระทบในเชิงความร้อนเท่านั้น โดยความร้อนส่วนหนึ่งมาจากการจ่ายไฟของแบตเตอรี่ และระยะเวลาการสนทนา หรือใช้งานติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมทั้งระยะห่างระหว่างผู้ใช้กับเสารับส่งสัญญาณที่อยู่ในรัศมีการให้บริการ
“องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหดให้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีพลังงานต่ำ (Non-ionizing radiation) อยู่ในกลุ่ม 2 B ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับแสงแดด (UV) ส่วนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีพลังงานสูง (Ionizing radiation) เช่น รังสีแกมมา และรังสีเอ็กซ์ เป็นคลื่นที่ทำให้อะตอมเกิดการแตกตัวเป็นไอออน และมีผลต่อการแยกอานุภาคอิเล็กตรอนออกไปกลายเป็นอนุมูลอิสระได้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโทรคมนาคมต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านมาตรฐานความปลอดภัยของ กสทช.อย่างเคร่งครัด รวมทั้งหาแนวทางสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ประชาชนได้อย่างถูกต้อง ก็จะสามารถช่วยคลายความวิตกกังวลในเรื่องนี้ลงได้อีกมาก” กรรมการสมาคมวิจัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย กล่าว