xs
xsm
sm
md
lg

“บรรจง นะแส” ปลุกคนใต้ร่วมต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปกป้องพื้นที่ผลิตอาหาร 2 ฝั่งทะเลไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย
ภายหลังจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.เดินหน้าสำรวจพื้นที่สำหรับก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งพบว่า ทำเลที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ก่อสร้างตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน ซึ่งถือเป็นพื้นที่ผลิตอาหารป้อนคนไทยทั้งประเทศ และยังเป็นแหล่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และการเกษตรในอันดับต้นๆ

ความพยายามของ กฟผ.ต่อแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จึงถูกนักวิชาการ นักอนุรักษ์ และชาวบ้านที่พึ่งพาทรัพยากรเหล่านั้นมองว่าเป็นความดันทุรัง เมื่อ กฟผ.เลือกใช้วาทกรรมโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างกลุ่มผู้สนับสนุน ซึ่งสวนทางต่อมติของสหประชาชาติ และขัดต่อหลักวิชาการ เนื่องจากปัจจุบันแม้เทคโนโลยีการใช้ถ่านหินเป็นพลังงานผลิตกระแสไฟฟ้าจะพัฒนาไปเพียงใดก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถจัดการต่อสารโลหะหนักในถ่านหินให้หมดไปได้ และที่ผ่านมา สภาวะแวดล้อมของโลกก็ตกเป็นตัวประกันของการเผาเชื้อเพลิงถ่านหิน จนอยู่ในขั้นวิกฤตแล้วในขณะนี้

“บรรจง นะแส” นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยต่อ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ว่าเขาพร้อมจะลุกขึ้นมาเป็นหัวหอกอีกครั้งในการต่อต้านคัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจนถึงที่สุด หลังพบว่า ตลอด 30 ปี ที่สมาคมฯ ได้ต่อสู้ฟื้นฟูทรัพยากรในท้องทะเลสามารถช่วยให้ทะเลไทยมีสัตว์น้ำเพิ่มจำนวนขึ้น ประชาชนริมชายฝั่งได้พึ่งพาทรัพยากรเหล่านี้ไปได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน ภาครัฐกลับหยิบยื่นนโยบายที่สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้แก่ชาวบ้าน ว่าสุดท้ายแล้วทิศทางการพัฒนาที่มาจากวาทกรรมของรัฐ ต้องการช่วยเหลือส่งเสริมประชาชน หรือรับใช้ใครกันแน่ ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์ และคลิปวิดีโอ



*** ขณะนี้มีการจะมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ อ.เทพา ซึ่งอยู่ริมทะเล จากข้อมูล กฟผ. ที่คุณหมอสุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ได้เปิดเผยว่าหากมีการสร้างโรงไฟฟ้าจะมีการปล่อยสารพิษถึงกว่า 260,000กิโลกรัมต่อปี จะส่งผลต่อทะเลอย่างไรบ้าง?

จะแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ผลกระทบต่อชายฝั่ง อ.เทพา ตั้งแต่สะกอม-เกาะแลหนัง รวม 67 กิโลเมตร ในส่วนผลกระทบต่อชาวประมงเนื่องจากบริเวณนั้นมีการทำประมงชายฝั่ง

ประเด็นแรกของทรัพยากร จ.สงขลา ชายหาดที่เหลือยาวที่สุดมีอยู่ 2 ส่วน คือ อ.สทิงพระ และ อ.เทพา ส่วน อ.จะนะ โดนปัญหาคลื่นกัดเซาะจากการสร้างเขื่อนกันคลื่น ซึ่งพังหมดแล้ว

ถ้ามองในแง่ของทรัพยากรที่เป็นชายหาด ที่เป็นฐานการท่องเที่ยวของคนใต้ หรือพื้นที่ใกล้เคียง เราจะสูญเสียตรงนี้หมด สาเหตุเพราะมีการสร้างท่าเรือเพื่อรองรับถ่านหินที่จะนำเข้ามา ฉะนั้นการสร้างท่าเรือ หรือเขื่อนกันคลื่นนั้นทุกที่ในประเทศ ยังไม่มีที่ไหนที่ไม่มีการกัดเซาะ และไม่ทำลายชายหาด ถ้าเรามองทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคตคือ การท่องเที่ยวที่เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ได้สรุปมา 2 ทางในการพัฒนาประเทศ

คือ 1.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งทำรายได้อันดับ 2-3 รองจากการส่งออกรถยนต์ หรือชิปคอมพิวเตอร์ ซึ่งพวกนั้นเราก็รู้อยู่แล้วว่า แม้เพิ่มรายได้จีดีพีให้แก่ประเทศจริง แต่ต้นทุนนั้นเมื่อบวกลบคูณหารแล้วได้น้อยกว่า แต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่มีการกระจายไปสู่คนที่หลากหลาย ตั้งแต่คนจับปลา เจ้าของรีสอร์ต รถทัวร์ บริษัทท่องเที่ยว โรงแรม เป็นต้น ดังนั้น ถ้าสงขลาเราทำลายชายหาด 67 กิโลเมตร ต้นทุนที่นำไปสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคตนั้นก็จะถูกทำลายไปทันที ซึ่งมูลค่าไม่รู้เท่าไหร่

อีกส่วนหนึ่งจากเกาะแลหนังเป็นต้นไปนั้น ในสงขลาก็มีป่าชายเลนอยู่น้อย ยกเว้นในรอบทะเลสาบบางส่วน ดังนั้น สงขลาจะมีป่าชายเลนแปลงใหม่อยู่ที่เทพา ป่าชายเลนมีความสำคัญต่อการฟื้นฟูปริมาณสัตว์น้ำ ที่พักพิง เพาะพันธุ์สัตว์วัยอ่อน ทำให้ชาวประมงอยู่ได้ เพราะมีแหล่งเพาะฟักที่สัมพันธ์กันหากเราไปทำลายส่วนนั้นเสีย โจทย์คือ อาชีพของคนดั้งเดิมที่นั่นก็จะเปลี่ยนไปมโหฬาร ถามว่าโรงไฟฟ้าจะรองรับอาชีพคนได้สักเท่าไหร่ ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจะรองรับอาชีพพี่น้องที่อยู่ชายฝั่งนั้นได้ นี่คือประเด็นแรก

ประเด็นเรื่องมลพิษเหมือนที่คุณหมอว่ามา ก็จากเอกสารที่ กฟผ.บอกนั่นแหละว่าคุณต้องใช้ถ่านหินวันละเท่าไหร่ จะต้องนำมาลำเลียง มากองไว้ที่ไหน เผาไหม้อย่างไร ก็เป็นข้อมูลของ กฟผ.เองเพราะฉะนั้นเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องใหญ่ที่ว่าเรากำลังพูดเรื่องการปฏิรูปในทุกๆ ด้าน ซึ่งพลังงานเป็นสิ่งหนึ่งที่ต้องปฏิรูปผ่านกลไกการปฏิรูป ซึ่งไม่จำเป็นต้องเร่งด่วนขนาดนี้ เรามีคณะกรรมการปฏิรูปซึ่งนายกฯ อ้างว่า ในการพัฒนาประเทศให้ไปข้างหน้า เรามีปัญหามาเยอะพอสมควร จึงต้องปฏิรูป แต่อยู่ๆ จะมาผลักดันให้เกิดโครงการนี้ขึ้นคำถามก็คือว่า เรื่องนี้ปฏิรูปหรือยัง? เพราะถ้ายังไม่ปฏิรูป จะดันทุรัง และรีบเดินหน้าก็จะมีคำถามจากสังคมมากมายว่าวันนี้รัฐไทยอยู่ภายใต้อุ้งมือของธุรกิจน้ำมัน เหมือนที่เขาว่ากันหรือไม่

นายกฯ ต้องทบทวนให้ดีๆ ว่า ประชาชนที่ลุกขึ้นมาสู้ ประชาชนที่กล้าเอาชีวิตเข้ามาแลก ก็ต้องการสังคมใหม่ ต้องการการกฏิรูประบบราชการ ต้องการปฏิรูปเรื่องความยากจน เรื่องพลังงานเป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งที่สังคมต้องการการปฏิรูป แต่อยู่ๆ จะมาเดินหน้าไม่ว่าจะเป็นการให้สัมปทานแหล่งพลังงานทะเล หรือบนบก หรืออ้างว่าต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น โดยไม่รอการปฏิรูปที่มันเพิ่มขึ้นนี่เพราะอะไร

ถ้าทิศทางอุตสาหกรรมแน่นอนจะต้องใช้ แต่เกิดสังคมไทยต้องการปฏิรูปที่จะไม่ขึ้นต่ออุตสาหกรรมอีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะปิโตรเคมี ซึ่งผลร้ายมีมากมาย ดังนั้น ควรทบทวนก่อนว่าสงขลาอาจจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเป็นเมืองการศึกษา เป็นเมืองสุขภาพอนามัย หรือโรงพยาบาล เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องสัมพันธ์กับธรรมชาติที่ดี ที่ไม่สกปรก

โรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นเรื่องที่ทั่วโลกต่างบอกว่าพอแล้ว และมีแต่จะลดลง ซึ่งการที่เราจะผลักดันให้เกิดขึ้นจึงเป็นความขัดแย้งโดยสิ้นเชิง ผมมองอย่างนั้น

*** สรุปว่ามุมมองของคุณบรรจง ในเบื้องต้นคือว่า หากจะปฏิรูปกันอย่างจริงจัง ต้องทำยุทธศาสตร์ของแต่ละพื้นที่กันใหม่ทั้งหมด ใช่ไหมครับ?

ตั้งแต่โครงสร้างใหญ่ว่า หากประเทศนี้ต้องการนำพาผู้คนส่วนใหญ่ไป ไม่ใช่เลือกเฉพาะกลุ่มทุนเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเราได้ข้อสรุปแล้วว่ามันรวยกระจุก และจนกระจาย แล้วก็ไม่มีอนาคต ดังนั้น การปฏิรูปเรื่องพลังงานเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นักวิชาการหลายคนบอกว่าจะเป็นเครื่องมือหรือกลไกในการลดช่องว่าง หรือจะทำให้เรามีรายได้จากทรัพยากรที่เรามี ฉะนั้นเรื่องพลังงานเป็นอีกเรื่องที่อยู่ๆ จะนำพลังงานถ่านหินมาใช้มันก็จะเกิดคำถามมากมายซึ่งต้องการคำตอบว่าผลดี ผลเสียเป็นอย่างไร ซึ่งจะต้องรอไม่ใช่เดินหน้าโดยใช้อำนาจของ คสช. ในปัจจุบัน

*** จริงๆ แล้วกระแสโลกก็ชัดเจนในเรื่องถ่านหิน เพราะมีตัวอย่างด้านผลกระทบจากหลายๆ ประเทศอย่างเช่น อเมริกาก็ชัดเจนว่าจะต้องใช้เงินจำนวนมาก ปีละหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐสำหรับการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากถ่านหิน

เมื่อเดือนมิถุนายนที่แล้ว โอบามา ประกาศว่าจะลดโรงไฟฟ้าถ่านหินลง 150 โรง หลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็ได้ประกาศมาอีกว่า จะไม่ให้งบของรัฐบาลในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งก็ชัดเจน ทั้งประเทศเยอรมนีเองก็เช่นเดียวกัน แล้วอยู่ๆ ประเทศไทยต้องการให้โรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้น จึงเกิดคำถามว่านี่คือผลประโยชน์ของนักการเมืองกลุ่มทุนหรือไม่ ที่ได้ไปสัมปทานถ่านหินที่ออสเตรเลีย หรืออินโดนีเซีย เพราะฉะนั้นรัฐบาลต้องตอบคำถามประชาชน ไม่ใช่อยู่ๆ ก็จะเดินหน้า

*** พื้นที่เทพาชาวบ้านพึ่งพาตัวเองได้มากน้อยแค่ไหนจากทรัพยากรปัจจุบันที่มีอยู่ เพราะ กฟผ. อ้างเรื่องของการพัฒนาพื้นที่ ที่บอกว่าพื้นที่ตรงนี้ด้อยโอกาสมานานแล้ว และจะอยู่ดีกินดีหากนำโรงไฟฟ้าเข้ามา

เรายกตัวอย่างการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่เข้ามาในหลายพื้นที่ เช่นที่ อ.จะนะ ที่บอกว่าหากมีโรงแยกก๊าซเข้ามาแล้วพี่น้องจะมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ถามว่าวันนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร พี่น้องรอบโรงงานไฟฟ้าที่เลี้ยงไก่ได้ก็ต้องเจ๊งไป พี่น้องที่เคยหากินในคลองได้ก็เจ๊งไป เมื่อโรงไฟฟ้ามาตั้งที่จะนะ 2 โรง พี่น้อง 3-4 ตำบลที่หากินใน ต.นาทับ ได้ ก็โดนขบวนการพัฒนาโรงไฟฟ้าที่นำน้ำขึ้นมาหล่อเย็นบอยเลอร์ พันธุ์สัตว์น้ำก็ติดมาด้วย กฟผ.ก็ปล่อยกุ้งก้ามกราม หรือปลานิล แต่วันนี้พันธุ์สัตว์น้ำหายไปหมด อาชีพทำประมงซึ่งประกอบด้วย ผู้หญิง เด็ก คนชรา ที่ กฟผ.ไม่สามารถรับทำงานในโรงไฟฟ้าได้ เทพาก็จะเจอปัญหานี้เหมือนกัน แม่น้ำเทพาในวันนี้รักษาชีวิตชาวบ้านมาจำนวนมาก ซึ่ง กฟผ.ไม่เคยทำตัวเลขตรงนี้

หากเราเปรียบเทียบ เราก็สามารถทำนายได้เลยในอนาคตว่า หากชายหาดพังไป หรือป่าชายเลนถูกทำลาย ถ้าคลองเทพาถูกทำลายไป ก็จะไม่เหลืออะไรที่บ่งชี้ความเจริญของชาวบ้าน สำหรับภาคอุตสาหกรรมผมคิดว่า ผู้รับเหมาได้อยู่แล้ว

*** ในเรื่องของเชิงพื้นที่ ด้านความปลอดภัยของชาวบ้าน เพราะเทพาก็เป็นพื้นที่ที่อยู่ในพื้นที่การก่อเหตุความรุนแรง หรือความไม่สงบด้วย ทราบจากชาวบ้านถึงวิธีการทำงานของ กฟผ.ว่า มีการข่มขู่ และอิทธิพลบางอย่างของผู้นำในท้องที่ จนเริ่มที่จะส่อความรุนแรงขึ้น ในมุมมองของคุณบรรจงคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ?

เราพูดถึงความจริงกันเลย จากวันที่ กฟผ. จัดเวที ค.1 เราจะเห็นว่ามีการใช้วิธีการเกณฑ์คน ติดสินบนเอาข้าวสารมาแจก ในขณะเดียวกัน เวทีรับฟังความคิดเห็นจะเห็นว่ามีขาใหญ่ หรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่คอยประกบ ใครที่พูดข้อเสนอที่ขัดแย้งก็จะโดนนักเลงคอยเบรก คอยไปดึง พวกเราก็เห็นและรับรู้กันอยู่แล้ว ดังนั้น เรื่องนี้มีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความรุนแรงได้ทั้ง 2 แบบ 1.ฝ่ายที่จะได้รับผลประโยชน์จากโรงไฟฟ้าก็จะกระทำความรุนแรงต่อภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยต่อโครงการนี้ แต่อย่าลืมว่าพื้นที่เทพาก็ไม่ใช่พื้นที่ธรรมดา จะเห็นว่าวันนั้นมีเยาวชนหนุ่มๆ มีโต๊ะครูหนุ่มๆ ที่เป็นปัญญาชนมุสลิม หากไปตอบโต้เขามากๆ ผมคิดว่าการโต้กลับก็มีความเป็นไปได้สูง ดังนั้น กฟผ. อย่าคิดว่าตัวเองจะคุมพวกหัวไม้ หรือขาใหญ่ในเทพาได้ มันก็จะมีลูกหลานหรือเยาวชนที่เขารักบ้านรักถิ่นของเขาพร้อมจะตอบโต้คุณทุกเมื่อ และทุกรูปแบบ

*** จริงๆ แล้ว อ.เทพา มีปัญญาชนอยู่เยอะเหมือนกันแต่เราเพิ่งจะมาเห็นเปิดตัวจริงๆ กันก็ตอนเวที ค.1 หลายคน

เยอะมากครับ และเขาก็ไม่กลัว เขานิ่งมาก และผมคิดว่าพวกเขาคือของจริง

*** ในเรื่องการเป็นพื้นที่ผลิตอาหาร ตรงนั้นมีความสำคัญอย่างไรต่อความเป็นแหล่งผลิตอาหาร ไม่ใช่เฉพาะของพื้นที่เทพา แต่รวมถึงคนในเมืองใหญ่ อย่างหาดใหญ่ด้วย

ใช่ครับ ตอนนี้ถ้าเรามองหาดใหญ่ หรือสงขลา ตลาดที่เป็นตลาดของนักท่องเที่ยวทั่วไปก็คืออาหารทะเล เราอยู่สงขลาก็จะรู้ว่าไม่เคยมีอาหารทะเลชนิดไหนที่ราคาตกลง ดังนั้น ไม่ว่ามาเลเซีย สิงคโปร์ ที่มานี่ก็เดินทางไปที่ร้านอาหารทะเล ซีฟูดหาดใหญ่ทั้งนั้น ส่วนใหญ่จะไม่สั่งหมูสั่งไก่กิน เขาเลือกจะสั่งกุ้งก้ามกราม ปูดำ ปูม้า ซึ่งรับมาจากชาวประมงของเทพา จะนะ สทิงพระ ถ้าหากเราทำลายตรงนี้ ผมคิดว่าถือเป็นความสูญเสียที่มโหฬาร

*** ที่ผ่านมาอาหารทะเลไม่เคยมีความสงสัยเรื่องการปนเปื้อนของสารเคมี โดยเฉพาะอาหารทะเลที่จับโดยชาวบ้านใช่หรือไม่ครับ

เพราะส่วนใหญ่จะมีชาวประมงที่ใช้เรือกอและ ไปเช้ากลับเย็น ไปกลางคืนกลับเช้า เพราะฉะนั้นอาหารทะเลที่ส่งมาขายในหาดใหญ่เป็นอาหารทะเลที่สดมาก มาเลเซีย สิงคโปร์ มาทุกทีก็วิ่งเข้าร้านอาหารทะเล หรือร้านอาหารซีฟูดตั้งแต่เทพา หรือจะนะ เราจะเห็นว่าขายดีมาก ถ้าเราทำลายตรงนั้นไป โจทย์ก็คือว่าเราจะมีอาชีพอะไรมาทดแทนให้เขา และต้องเป็นอาชีพที่ยั่งยืน

*** แสดงว่าความสะอาดของท้องทะเลบริเวณชายฝั่ง อ.เทพา อ.จะนะ จากบริเวณนั้นมาถึงสงขลา มีอิทธิพลมากต่อตลาดการบริโภคในหาดใหญ่

จุดแข็งในวันนี้คือ สงขลายังไม่มีโรงงานปิโตรเคมี ถึงจะมีโรงงานจำพวกโรงงานปลากระป๋องอยู่บ้าง แถว อ.เมืองสงขลา หรือมีโรงงานน้ำยางข้นอยู่ที่ อ.จะนะ แต่ยังไม่มีอุตสาหกรรมแบบมีสารตะกั่ว มีสารพิษ แบบภาคตะวันออก ดังนั้น คนที่มาบริโภคอาหารทะเลจึงสบายใจในเรื่องของสารตกค้าง พวกแคดเมียม หรือปรอท และค่อนข้างจะเป็นทะเลที่บริสุทธิ์ นี่คือจุดแข็งที่สงขลาเรามี

*** เราเคยสำรวจความพึงพอใจของผู้บริโภคในกลุ่มผู้บริโภคอาหารทะเลหรือไม่ครับ

ผมมีเพื่อนมาเลเซีย สิงคโปร์ ส่วนใหญ่มาถึงก็ต้องขอกินอาหารทะเลสักมื้อ แค่นี้ก็ชัดเจนว่ามีความพึงพอใจของอาหารทะเลมาก เราสามารถไปดูได้รอบทะเลสาบสงขลา ร้านอาหารซีฟูดเต็มทุกวันเลย เสาร์-อาทิตย์ ก็เต็มทุกวัน แทบไม่มีที่นั่ง

*** ทราบมาว่าเร็วๆ นี้ จะมีการนำเรื่องของอาหารทะเล ความอุดมสมบูรณ์ของทะเล 2 ฝั่งของทะเลไทย ไปสื่อสารต่อคนกรุงเทพฯ ด้วย

เรื่องนี้เป็นเรื่องงานที่เรารณรงค์เรื่องอาหารทะเลมานานแล้ว เพราะเรายืนยันว่า แหล่งอาหารโปรตีนสำหรับสังคมไทยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือทะเล ซึ่งสงขลามีทะเลอยู่ทั้ง 2 ฝั่ง สมาคมรักษ์ทะเลไทยเราทดลองฟื้นฟูชมชนร่วมกับชาวประมง เช่น บางชุมชนก็จะจัดตั้งตัวเอง ไล่เครื่องมือที่มาทำลายล้างที่เข้ามาในชุมชนพวกอวนลาก เรือปั่นไฟ ฯลฯ ออกไป หลังจากนั้น มีกุ้ง หอย ปู ปลาขึ้นมาเพียบ เรื่องเหล่านี้เริ่มรับรู้มากขึ้น

วันที่ 22-23 พ.ย. นี้เราจะจัดงานรวมพลคนกินปลา ที่กรุงเทพ ณ สวนสันติชัยปราการ ใกล้ๆ “ASTVผู้จัดการ” ซึ่งเคยจัดมาแล้ว 2 ปี และปีที่แล้วยังมีการชุมนุมบ้าง ก็เลยเว้นไป การจัดงานนี้ก็เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า ชุมชนประมงทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามันที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาสู้ เขาจะเอาพันธุ์สัตว์น้ำชนิดต่างๆ ที่มีในพื้นที่มาแสดงให้เห็นเลยว่าอาหารทะเลแต่ละอย่างมาจากในพื้นที่ไหน และจะมีการบอกที่มาว่าเมื่ออยากกินอาหารทะเลแบบนี้ที่ไหนจะบอกอย่างละเอียด

แล้วจะเปิดตัวอีกครั้งให้คนกรุงเทพฯ รู้ว่า ชาวประมงนี่แหละเป็นอาชีพที่ผลิตอาหารโปรตีนธรรมชาติให้แก่สังคมไทยได้ และเราเชื่อมั่นว่าเพียงพอถ้าทะเลไทยได้รับการดูแลอย่างดี

*** แพกเกจที่เห็นในหน้าเพจของกลุ่มรวมพลคนกินปลา บอกว่าปลอดภัย ไร้สารฟอร์มาลิน อยากทราบข้อเท็จจริงเรื่องสารฟอร์มาลินในอาหารทะเลมันเกี่ยวข้องกันอย่างไร?

ใน 2 เดือนที่แล้วผมก็ตกใจ แต่จากที่สำรวจมาในตลาดกรุงเทพฯ บอกว่า 90% อาหารทะเลแช่ฟอร์มาลิน ซึ่งเราตกใจมาก เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทยก็คือว่ากระบวนการผลิตอาหารทะเลที่มาจากเรือใหญ่ที่ไม่ได้มาตรฐานการรักษาเนื้อปลาส่วนใหญ่ใช้ฟอร์มาลิน หรือถ้าส่งต่อจากแพไปสู่ตลาดที่ไกลไปจากท้องถิ่น เช่น จากแม่กลองไปเชียงใหม่ ไปขอนแก่น มาตรการควบคุมผู้บริโภคยังไม่เข้มงวด ความรู้ของประชาชนที่มีต่อเรื่องนี้ก็ยังมีไม่มากพอ ในขณะที่กลไกรัฐสามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ จริงๆ แล้วมีเครื่องมือทดสอบ Testkit เครื่องมือเล็กราคาไม่แพง จิ้มเข้าไปก็สามารถรู้ได้ทันทีว่ามีฟอร์มาลินหรือไม่ ซึ่งมีขายทั่วไปตามร้านขายยา และเมื่อรับรู้แล้วก็ไปซื้อมาเก็บไว้ ในที่สุดสิ่งเหล่านี้ก็จะหายไป แต่นั่นหมายถึงคนขายปลา คนจับปลา ต้องตื่นตัว หรือต้องตื่นพร้อมกัน

*** ทำไมกระทรวงสาธารณสุขไม่ตรวจสอบเรื่องนี้

นี่คือโจทย์ว่าวันนี้ทำไมเราไม่สนใจปัญหาเหล่านี้ ทั้งที่คือปัญหาใหญ่ เยาวชนของเรายังกินอาหารปนเปื้อนฟอร์มาลิน กินไก่ที่ฆ่าโดยมีสารเร่งเนื้อ ยังมีเรื่องพวกนี้อีกเยอะมาก

ขอขอบคุณทาง “ASTVผู้จัดการ” และเราก็คาดหวัง และอยากบอกแก่คนในสังคมว่า วันนี้เรามีความรู้ มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะให้ผู้บริโภคตื่นขึ้นมาตรวจสอบ อย่าหวังพึ่งกลไกรัฐเพียงอย่างเดียว ในขณะเดียวกัน ก็กดดันกลุ่มธุรกิจประมงพาณิชย์ หรือห้องเย็นต่างๆ ที่เป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลให้แก่ผู้บริโภค ไม่ใช่เพียงแค่อาหารทะเล แต่รวมไปถึงอีกหลายชนิด เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อไก่ สังคมในอนาคตที่เราต้องการคือ สังคมที่มีการตรวจสอบ โปร่งใส และตรงไปตรงมาทุกระบบ

*** รัฐบาลที่สนับสนุนสภาปฏิรูปอยู่ทุกวันนี้ทราบข้อมูลพวกนี้หรือไม่ เช่น กรณีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำที่มีอยู่ทั้ง 2 ฝั่งทะเลมาจากชาวบ้านช่วยกันฟื้นฟูหลังจากที่โดนทำลายจากอวนลาก อวนรุน แต่ทุกวันนี้ก็ยังเห็นเรืออวนจำพวกนี้อยู่

ผมเห็นเจ้าสัว CP หรือคนอื่นๆ ไปนั่งเป็นที่ปรึกษา เมื่อมีการมีงานแล้วรัฐมนตรีไปนั่ง ผมคิดว่าคงไม่มีใครกล้าทำอะไร นอกจากประชาชนจะลุกขึ้นมาแล้วบอกว่าไม่ยอม อวนรุน อวนลากก็จะหมดไป ไก่ขาว หมูขุน ที่ไม่ได้มาตรฐานในสังคมไทยอาจต้องมีการตรวจสอบ ไม่ใช่ตรวจเฉพาะที่ส่งออกนอกเท่านั้น ดังนั้น วันนี้เราจะไปหวังพึ่งกลไกของรัฐ 100% ไม่ได้ ใน สนช.เราก็เห็นว่ามีองค์ประกอบของคนคือ กลุ่มทุนขนาดใหญ่ เปิดบัญชีทรัพย์สินกันมาชาวบ้านถึงกับหงายท้อง คุณเป็นทหาร เป็นตำรวจ ร่ำรวยขนาดนี้ได้อย่างไร หรือใน สปช.บางส่วนก็มีกลุ่มทุนเข้าไป ฉะนั้นเรื่องนี้ก็มี สนช.เป็นผู้ที่สนใจเรื่องนี้ แต่พัฒนาการทางสังคมที่สามารถบรรลุผลได้ ไม่สามารถที่จะฝากความหวังไว้กับกลไกใดกลไกหนึ่งได้ ประชาชนต้องเป็นฝ่ายลุกขึ้นมาตรวจสอบ และกดดัน ผมเชื่ออย่างนั้น

*** ถ้าประชาชนจะต้องลุกขึ้นมาอีกในขณะมีสภาปฏิรูป แสดงว่าสภาปฏิรูปไม่ได้ช่วยหนุน หรือเสริมในส่วนของความเป็นอยู่ที่มั่นคงของชาวบ้าน

ผมมองว่ายังไม่เลวร้ายขนาดนั้น เพราะวันนี้ สปช.ยังทำงานอยู่ เพราะอำนาจสุดท้ายขึ้นอยู่กับ สนช.ที่ทหารตั้งขึ้น เขาเป็นคนบอกว่าอะไรผ่านหรือไม่ผ่าน หาก สปช.ทำดีที่สุดแล้ว แต่โดน สนช.เอาเปรียบ ประชาชนจะลุกขึ้นมาอีกครั้ง

*** ในส่วนของ คสช.หรือรัฐบาลก็ดี ดูเหมือนจะไม่แคร์กับข้อมูลของชาวบ้านที่เสนอไป อย่างนายกฯ ก็ออกมาพูดว่าสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งขัดแย้งมากกับความเห็นของคนในพื้นที่ ว่าถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินมาจริง จะทำลายวิถีชีวิตพวกเขาหมด

ผมคิดว่านายกฯ ก็ปากแข็งไปแบบนั้น เมื่อดูกระแสเมื่อชาวบ้านหรือใครเริ่มเอาจริงขึ้นมา ขาหุ้นฯ เดิน ถ้าสามารถอธิบายปัญหาได้ชัดเจนผมคิดว่านายกฯ จะถอย เพราะถ้าไม่ถอยก็พังแค่นั้นเอง

*** เชื่อมั่นใน พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ว่ายังรับฟังเสียงของชาวบ้าน

ผมบอกได้แค่ 50-50 เท่านั้นเอง จนกว่าจะตัดสินใจทำบางเรื่องที่จริงจังว่าคุณเอาแบบนี้แน่แล้วเราจะรู้ว่าคุณทำเพื่อใคร

*** อยากจะบอกอะไรแก่ชาวบ้านที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายของนักพัฒนา องค์กรพัฒนาเอกชน ว่าควรจะรู้เท่าทันในยุคปฏิรูปอย่างไรบ้างครับ

ผมคิดว่าในการปฏิรูปเราอย่าไปคิดแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ใครที่เกลียดตำรวจก็จะเน้นไปที่ตำรวจ ข้าราชการก็เน้นไปที่ข้าราชการ ต้องพยายามที่จะรับรู้ว่าปัญหาของเราคืออะไร ซึ่งมีโครงสร้างใหญ่ๆ ไม่กี่เรื่อง ช่องว่างระหว่างความรวยความจน มาตรการที่ไม่สามารถรองรับความต้องการของประชาชนในสังคมได้ ไม่มีมาตรการที่จะกระจายความมั่งคั่งของทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศ ได้แก่ ทรัพยากรน้ำมัน พลังงานต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนา เรื่องพวกนี้ต้องถูกปฏิรูป หากไม่ปฏิรูปก็หมายถึงกลุ่มคนที่ได้ผลประโยชน์จากการพัฒนาประเทศก็จะเหมือนกัน ฉะนั้นการพัฒนาประเทศจะกำหนดไปในทิศทางที่พวกเขาได้ประโยชน์ในเส้นทางอุตสาหกรรม แต่ประชาชนเราคือเกษตรกร หรือธุรกิจท่องเที่ยว หากมีการทำลายแหล่งอาหาร ทำลายอู่ข้าว มลพิษเกิดขึ้น ธุรกิจที่ท่านสู้ด้วยมือก็จะอยู่ไม่ได้ ดังนั้น ทุกภาคส่วน เกษตรกร นักธุรกิจ ควรร่วมมือกัน
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น