โดย..สุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง
คำนิยาม เกษตรกรชาวสวนยางคือใคร ที่ผ่านมา เรารู้จักชาวสวนยางในนามเจ้าของสวน และมักจะเป็นเจ้าของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ และคนเหล่านี้ก็พอมีอันจะกิน เราจึงจัดตั้งสหกรณ์ สถาบันเกษตรกร ที่ต้องใช้เอกสารสิทธิในที่ดินเป็นตัวค้ำประกันเงินกู้ ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และคนกรีดยางไม่ได้รับสิทธินี้ เพราะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่เคยเดิน Statement หรือหลักฐานทางบัญชี
แต่เรื่องจริงของชาวสวนยางมีมากกว่านั้น และเจ็บปวดกว่านั้น เพราะเราเก็บภาษีส่งออกที่เรียกว่าเงิน cess จากยางทุกต้นเป็นกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง โดยให้ สกย.บริหาร จ่ายค่าปลูกทดแทน เป็นเงินกว่าแสนล้านบาท นับจากปี 2503 และเงินนี้เก็บจากเกษตรกรชาวสวนยาง 3 กลุ่ม คือ เก็บจากเจ้าของสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ และเก็บจากเจ้าของสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ รวมถึงคนกรีดยาง ก็ร่วมจ่ายภาษี cess ในฐานะที่คนกรีดยางเป็นหุ้นส่วนกับเจ้าของสวน
แต่พอมีมาตรการใดๆ อันเป็นความช่วยเหลือจากรัฐ ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และคนกรีดยางกลับถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครเหลียวแล ทั้งๆ ที่พวกเขาก็คือส่วนสำคัญที่ทำให้ยางพาราไทยเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดโลกให้ทุกคนได้ภาคภูมิใจ อย่างเช่น การช่วยเหลือปัจจัยการผลิต การปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจาก ธ.ก.ส.และแม้แต่การสงเคราะห์การปลูกทดแทน ของชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่เคยได้รับการจ่ายชดเชยจาก สกย. ก็ถูกยกเลิก
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา คนเหล่านี้ถูกละเมิด หรือลิดรอนสิทธิหรือไม่ เรากำลังผลักไสให้ชาวสวนยางกลุ่มนี้ที่จ่ายภาษี หรือเงิน cess กลายเป็นชาวสวนยางชายขอบ
ดังนั้น การร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ต้องนิยามคำว่าเกษตรกรชาวสวนยางเสียใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมคนทั้ง 3 กลุ่ม และดำเนินการจดทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางที่สำนักงานการยางแห่งประเทศไทยประจำจังหวัด เป็นงานจัดตั้งให้กระบวนการของชาวสวนยางเป็นปึกแผ่นอันจะสัมพันธ์กับกระบวนการเลือกตั้งผู้แทนชาวสวนยางจากทั่วประเทศ ที่จะต้องเป็นคณะกรรมการ หรือบอร์ดการยางแห่งประเทศไทยจำนวนเกินกึ่งหนึ่ง อีกทั้งคณะอนุกรรมการการยางแห่งประเทศไทยประจำจังหวัด ในสัดส่วนของชาวสวนยางก็ต้องมาจากการเลือกตั้งจากชาวสวนยางด้วยเนื้อหาทั้งหมดต้องบรรจุอยู่ใน พ.ร.บ.การยางฯ
สรุปการปฏิรูปยางพาราในมิติ คำนิยามชาวสวนยางต้องทำให้สิทธิ และผลประโยชน์ของชาวสวนยางครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งชาวสวนยางที่มีเอกสารสิทธิ ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และคนกรีดยาง เพื่อรองรับการเลือกตั้งผู้แทนชาวสวนยางคณะอนุกรรมการการยางฯ ประจำจังหวัด และการเป็นผู้มีสิทธิ และผลประโยชน์ในกองทุนสวัสดิการชาวสวนยาง
(อ่านต่อตอนที่ 3)