ศูนย์ข่าวภูเก็ต - งานประเพณีถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2557 ครั้งที่ 2 ศาลเจ้ากะทู้ จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้ชื่องาน “ถวาย ร.9 กินผักเดือน 9 เมืองกะทู้ภูเก็ต” พร้อมแห่พระรอบเมืองคึกคัก ประชาชน และนักท่องเที่ยวร่วมเพียบ
สืบเนื่องจากปีนี้ตามปฏิทินจีนมีเดือน 9 ถึง 2 ครั้ง ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต มีศาลเจ้าหลายแห่งที่จัดให้มีงานประเพณีถือศีลกินผักขึ้นระหว่างวันที่ 24 ต.ค.-1 พ.ย.57 โดยเฉพาะในส่วนของ เทศบาลเมืองกะทู้ ร่วมกับศาลเจ้ากะทู้ ที่ร่วมกันจัดงานประเพณีถือศีลกินผักจังหวัดภูเก็ต ประจำปี 2557 ครั้งที่ 2 ภายใต้ชื่องาน “ถวาย ร.9 กินผักเดือน 9 เมืองกะทู้ภูเก็ต” โดยมีคำขวัญของการจัดงาน ว่า กินผักเดือน 9 ถวายเป็นพระราชกุศลรัชกาลที่ 9 เพื่อน้อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งตลอดการจัดงานทางเทศบาลได้จัดโต๊ะให้ประชาชนที่เข้าร่วมกินผักครั้งที่ 2 ลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยตั้งเป้าให้ได้ 99,999 รายชื่อ เพื่อนำรายชื่อทั้งหมดเสนอต่อสำนักพระราชวัง ในวันที่ 5 ธันวาคม 2557
โดยวันนี้ (31 ต.ค.) บรรยากาศการจัดงานประเพณีถือศีลกินผักในส่วนของศาลเจ้ากะทู้ เป็นไปด้วยความคึกคัก เนื่องจากทางศาลเจ้าได้จัดให้พิธีแห่พระรอบเมืองภูเก็ตขึ้น ซึ่งมีประชาชนชาวภูเก็ต และนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ ออกมารอรับขบวนแห่พระของศาลเจ้าหล่ายถู่ต่าวโบเก้ง หรือศาลเจ้ากะทู้ ซึ่งเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดในจังหวัดภูเก็ต เพื่อขอพรจากองค์พระ และชมการแสดงอิทธิฤทธิ์ของม้าทรงกว่า 500 คน โดยมีศาลเจ้าจากพังงาเข้าร่วมด้วย ซึ่งการแห่พระในวันนี้ ม้าทรงต่างก็ใช้ของแหลม ของมีคมต่างๆ ทั้งใน และนอกตำนาน ประกอบด้วย หัวมณฑล เหล็กแหลม มีดดาบ ทิ่มแทงตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณกระพุ้งแก้ม ลิ้น ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นการรับเคราะห์แทนผู้ถือศีลกินผัก
สำหรับขบวนแห่พระของศาลเจ้ากะทู้ ได้เคลื่อนออกจากศาลเจ้ามุ่งหน้าเข้าตัวเมืองภูเก็ต ซึ่งภายในขบวนประกอบด้วย ศาลเจ้าต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต และม้าทรงจากศาลเจ้า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา มาร่วมขบวนแห่พระด้วย เพื่อไปประกอบพิธีอัญเชิญกระถางธูปศักดิ์สิทธิ์ที่บริเวณสระน้ำ สะพานหิน ภูเก็ต กลับศาลเจ้า ทั้งนี้ เมื่อขบวนแห่พระผ่านมาถึงจุดที่มีประชาชนชาวภูเก็ต และนักท่องเที่ยวที่ตั้งโต๊ะบูชาพระ ได้มีการนำประทัดแพจำนวนมากจุดใส่ขบวนพระเพื่อเป็นการต้อนรับในโอกาสเสด็จออกประพาสเพื่อโปรดสัตว์ หรือออกเยี่ยมราษฎรของพระมหากษัตริย์
โดยมีขบวนธง และป้ายชื่อแห่นำหน้า จากนั้นเป็นเกี้ยวหามรูปพระ เรียกว่า ไท่เปี๋ย หรือเสลี่ยงเล็ก โดยหามรูปพระบูชาต่างๆ ออกนั่งเกี้ยวไป ซึ่งจัดตามชั้น และยศของเทพ จากนั้นเป็นขบวนของนิ่วสิ่ว หรือฉัตรจีน ตามด้วยพระเกี้ยวใหญ่ หรือเสลี่ยงใหญ่ ซึ่งมักใช้คน 8 คนหาม ซึ่งเป็นที่ประทับองค์กิ้วฮ๋องไต่เต่ ทำให้พื้นที่ตัวเมืองภูเก็ตในเส้นทางที่ใช้ประกอบพิธีแห่พระถูกปกคลุมไปด้วยเสียง และควันจากประทัด