ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เชื่อบัณฑิตรุ่นใหม่ต้องรู้วิชา “การเป็นผู้ประกอบการ” ย้ำการเรียนยุคใหม่ในทุกสาขาควรเพิ่มเรื่องการวางแผน การคิดหาธุรกิจใหม่ และการจัดการ เพื่อรองรับตลาดธุรกิจอาเซียนพัฒนาสู่ระดับโลก
วันนี้ (27 ต.ค.) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จงพิศ ศิริรัตน์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ในฐานะที่ได้มีส่วนในการพัฒนาคณะวิทยาการจัดการ โดยเฉพาะด้านหลักสูตรบริหารธุรกิจ ซึ่งเป็นสาขาที่มีความจำเป็นในการเข้าสู่การค้าแบบไร้พรมแดนเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน เชื่อว่าความรู้เรื่อง “การเป็นผู้ประกอบการ” หรือ Entrepreneurship เป็นวิชาหนึ่งที่น่าสนใจ และนักศึกษาทุกคนควรมี
เนื่องจากในปัจจุบันการประกอบธุรกิจย่อมกลายเป็นเป้าหมายหนึ่งในการประกอบอาชีพของบัณฑิต ที่ต้องการมีกิจการเป็นของตนเอง และสามารถทำรายได้จำนวนมากในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีหลังจบการศึกษา และบางคนทำควบคู่กับงานประจำ อีกทั้งกำลังเป็นที่ต้องการของทั้งตลาดของอาเซียน และในระดับโลก โดยร้อยละ 90 ของธุรกิจในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นการประกอบการธุรกิจขนาดย่อม
ความรู้เรื่อง “การเป็นผู้ประกอบการ” ควรเป็นความรู้พื้นฐานที่นักศึกษาทุกคนทุกคณะต้องทราบ ซึ่งจะประกอบไปด้วย กระบวนการคิดวางแผน การหาธุรกิจใหม่ และการจัดการ แต่ปัญหาคือ หากจะเปิดสอนเป็นวิชาเรียนให้มีความลึกซึ้ง ในแต่ละห้องไม่ควรจะมีนักศึกษาเกิน 30 คน เพราะต้องมีการทำโครงการที่สามารถทำได้จริง เป็นการสอนเพื่อให้มีการคิดที่เป็นแนวใหม่ มีความต่าง ไม่ซ้ำกับที่เคยมีการคิดมา ซึ่งการสอนในชั้นเรียนที่มีผู้เรียนจำนวนมากไม่สามารถฝึกให้มีการเรียนรู้ด้วยตนเองได้” คณบดีคณะวิทยาการจัดการ กล่าว
ในส่วนการสนับสนุนการฝึกนักศึกษาให้เป็นผู้ประกอบการตามแนวของคณะ คือ ให้มีการฝึกปฏิบัติ ใช้พื้นที่ของคณะเป็นพื้นที่ฝึกบริหารจัดการธุรกิจ ฝึกจำหน่ายสินค้าของนักศึกษา โดยความรู้ภาษาอังกฤษยังมีส่วนสำคัญที่จะสื่อสารทำความเข้าใจ สำหรับความร่วมมือ และการเข้าสู่ตลาดแรงงานในอาเซียน ทั้งนี้ คณะวิทยาการจัดการมีความหลากหลายด้านสาขาวิชา มีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในอาเซียน ทั้งโดยความสัมพันธ์ในระดับผู้บริหาร และผ่าน AUN (ASEAN University Network)
ปัจจุบัน คณะวิทยาการจัดการ มีความเชื่อมั่นในความสามารถ ทั้งของนักวิชาการบุคลากรของคณะ ในการพัฒนาหน่วยงานเทียบเท่ากับหลายสถาบันในประเทศ และในภูมิภาค คุณภาพของบัณฑิตที่ผลผลิตที่เป็นที่ยอมรับ และต้องการของตลาดแรงงานทั้งใน และต่างประเทศ และบางคนได้เข้าทำงานในบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับโลก เช่น APPLE นโยบายหนึ่งของคณะคือ การสนับสนุนการพัฒนาความรู้ของนักวิชาการบุคลากร ส่งเสริมบัณฑิตให้มาทำงานเพื่อพัฒนาคณะ โดยการให้ทุนไปศึกษาต่อ ซึ่งในการพัฒนาคนต้องใช้เวลา