ยะลา - ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการ “คลายทุกข์ ที่ต้นทาง” มุ่งแก้ปัญหาความเดือนร้อน และให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ตรงจุดอย่างรวดเร็ว โดยใช้เครือข่ายบัณฑิตอาสาภายในพื้นที่เป็นผู้ตรวจสอบทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน
วันนี้ (15 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลงพื้นที่หมู่บ้านโต๊ะแนปา บ้านเลขที่ 33/1 ม.6 ต.สามัคคี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เพื่อตรวจสอบ และประเมินสภาพปัญหาในเบื้องต้น ซึ่งทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีนโยบาย “คลายทุกข์ ที่ต้นทาง” โดยใช้เครือข่ายของบัณฑิตอาสาที่มีอยู่ภายในพื้นที่ตรวจสอบ ดูแลภายในพื้นที่ของตนเองถึงความเดือดร้อน ทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนตามวัตถุประสงค์ของบัณฑิตอาสา คือ “สุขใจ ที่ได้ช่วย” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ภูมิพลอดุลยเดช
ซึ่งจากนโยบายดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา น.ส.ซูนากีย๊ะ ละโล๊ะม๊ะ บัณฑิตอาสา ม.6 ต.สามัคคี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส ได้ส่งเรื่องเดือดร้อนของ น.ส.ขอมือเสาะ ตือลีซา อายุ 53 ปี เป็นคนพิการไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีฐานะยากจน ไม่มีรายได้ สามีเสียชีวิต มีลูกทั้งหมด 3 คน คนแรก ไม่มีงานทำ คนที่ 2 แต่งงานแล้ว แต่แยกทางกับสามี มีลูกด้วยกัน 2 คน ทำอาชีพรับจ้างกรีดยางได้วันละประมาณ 300 บาท ซึ่งทำได้ประมาณ 15 วันต่อเดือน คนที่ 3 คือ ด.ญ.ขอลีมะห์ ตือลีซา อายุ 12 ปี เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แล้ว ตอนนี้เรียนสายศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่อยากจะเรียนสายสามัญควบคู่ไปด้วย แต่แม่ไม่สามารถส่งเสียได้ จึงไปรับจ้างเลี้ยงลูกของพี่สาวได้เงินประมาณวันละ 15 บาท เพื่อเป็นค่าขนม โดยภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลจะตกอยู่ที่ลูกสาวคนที่ 2 เพียงคนเดียว
เมื่อนายภาณุ อุทัยรัตน์ ได้ทราบเรื่องจึงให้ทางศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดชายแดนใต้ ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ และให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น โดยนำรถจักรยาน ข้าวสาร พร้อมทั้งประสานงานกับหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นทาง อ.รือเสาะ ในการช่วยเหลือ
เบื้องต้น ด้านทุนการศึกษาของ ด.ญ.ขอลีมะห์ ในการศึกษาต่อด้านสายสามัญ โดยประสานกับศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยตำบลสามัคคี (กศน.ตำบล) เข้ามาดูแล เพราะ ด.ญ.ขอลีมะห์ ต้องการจะใช้เวลาเพื่อดูแลแม่ด้วย ทางด้าน ร.ต.ทักษ์ศิลป์ โพนเป๊ะ ชุดปฏิบัติการกิจการพลเรือน หน่วยเฉพาะกิจ 30 จะให้ความช่วยเหลือในการฝึกอาชีพให้แก่ลูกสาวคนที่ 2 พร้อมประสานกับทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) สามัคคี ในการสนับสนุนอาชีพในกลุ่มฝึกอาชีพภายในหมู่บ้าน เพื่อเพิ่มรายได้ในการนำมาดูแล น.ส.ขอมือเสาะ
ทั้งนี้ ได้ประสานยังหน่วยสาธารณสุขในพื้นที่ในเรื่องของสุขภาพ น.ส.ขอมือเสาะ เพื่อช่วยในเรื่องอุปกรณ์การพยุงการเดิน เช่น วอล์กเกอร์ช่วยเดิน โดยมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้การสนับสนุน และประสานการทำงานในส่วนอื่นๆ เพื่อไม่ให้ทับซ้อนการทำงานกันในภายพื้นที่
ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเป็นการขยายผลจากโครงการ “คลายทุกข์ ที่ต้นทาง” ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องการให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน การให้ความช่วยเหลือ และการอำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้ที่ประสบกับปัญหา หรือได้รับความเดือดร้อนได้รับการแก้ไข หรือได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างรวดเร็ว และปัญหาสามารถดำเนินการแก้ไขได้อย่างเบ็ดเสร็จในพื้นที่ต้นทางของปัญหา
โดยการจัดการของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำงานร่วมกับเครือข่ายทั้งในส่วนเครือข่ายโดยตรงของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเครือข่ายต่างๆ ที่มีอยู่ในแต่ละหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอต่างๆ รวมทั้งเครือข่ายที่อยู่ในหน่วยงานต่างๆ ของจังหวัด โดยเฉพาะบัณฑิตอาสา เครือข่ายยุติธรรมชุมชน นิติกรอำเภอ รวมทั้งล่ามต่างๆ นำไปสู่การช่วยเหลือ และการอำนวยการความเป็นธรรมในรูปแบบต่างๆ ภายใต้ข้อมูล หรือข้อเท็จจริงที่ถูกต้องชัดเจน สามารถให้การช่วยเหลืออำนวยความเป็นธรรมภายใต้ขีดความสามารถ และอำนาจหน้าที่ที่สามารถจะกระทำได้ในขณะนั้นทันที รวมทั้งการประสานการแก้ไขปัญหา และความช่วยเหลือร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว