โดย... ผศ.กัลยาณี พรพิเนตพงศ์ และคณะ
(งานเขียนชิ้นนี้เรียบเรียงขึ้นจากงานวิจัยเรื่อง ‘Response of Fisherman to Fishing Control Policies in Southern Songkhla Lake, Thailand: A Field Experiment’ คณะผู้วิจัย ประกอบด้วย กัลยาณี พรพิเนตพงศ์, จุมทิพย์ เสนีย์รัตนประยูร, ปพิชญา แซ่ลิ่ม, ปฐมวัตร จันทรศัพท์ และ วิทวัส เหมทานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หมายเลขงานวิจัย 2013-PBl ของ EEPSEA สนับสนุนโดย The Economy and Environment Program for Southeast Asia (EEPSEA) ผู้สนใจศึกษาฉบับสมบูรณ์สามารถค้นคว้าได้ที่หอสมุดคุณหญิงหลง อรรถกระวีสุนทร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หรือ www.eepsea.net)
บทคัดย่อ
การวิเคราะห์พฤติกรรมการตอบสนองต่อนโยบายการจับสัตว์น้ำของชาวประมงในทะเลสาบสงขลานี้ ได้ออกแบบการศึกษาโดยใช้แนวคิดพื้นฐานของการใช้ทรัพยากรร่วมกันและใช้ทฤษฎีเกมเป็นฐานแนวคิด โดยเลือกการจับกุ้งด้วยไซนั่งเป็นกรณีศึกษา การศึกษาได้สงเกตพฤติกรรมการจับสัตว์น้ำภายใต้มาตรการต่างๆ ในสองสถานการณ์ คือ เมื่อทะเลสาบมีปริมาณกุ้งในทะเลสาบมากและน้อย โดยปริมาณกุงในทะเลสาบจะถูกกำหนดจากระดับความเค็มของน้ำ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากฤดูกาล
ผลการศึกษาพบว่า มาตรการการให้ชาวประมงร่วมกันจัดการ (Co-management) จะสามารถควบคุมจำนวนการวางไซให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ดีกว่ากรณีการใช้มาตรการบังคับโดยภาครัฐ (External Regulation) และพบว่า ทรัพยากรประมงมีความยั่งยืนมากกว่า
นอกจากนี้ ยังพบว่าการใช้นโยบายการให้สิทธิการจับสัตว์น้ำที่ต่างกัน จะส่งผลต่อการละเมิดกฎของชาวประมงต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ชาวประมงฝ่าฝืนกฎลดลงเมือใช้นโยบายให้สิทธิการจับสัตว์น้ำที่เปลี่ยนมือได้ (Individual Transferable Quotas: ITQs) โดยเปรียบเทียบกับกรณีให้สิทธิที่ไม่สามารถเปลี่ยนมือได้ (Individual Quotas: IQs) สาเหตุเนื่องจากนโยบายให้สิทธิที่สามารถเปลี่ยนมือได้ มีความยืดหยุ่นมากกว่าสำหรับชาวประมงที่ต้องการเปลี่ยนแปลงจำนวนการวางไซ
อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการการกำหนดโควตาที่สามารถเปลี่ยนมือได้นี้ ต้องอยู่ภายใต้การกำหนดบทลงโทษที่เหมาะสม
คำหลัก
ทะเลสาบสงขลา การประมงอย่างยั่งยืน มาตรการการจับสัตว์น้ำสิทธิการจับสัตว์น้ำ การใช้ทรัพยากรร่วมกัน
ความสำคัญ และวัตถุประสงค์
ทะเลสาบสงขลาตอนใต้ตั้งอยู่ปลายสุดของทะเลสาบทั้ง 3 ตอน เชื่อมต่อกับอ่าวไทยที่ อ.เมือง จ.สงขลา ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 180 ตารางกิโลเมตร เนื่องจากเป็นทะเลสาบเปิด (Lagoon) จึงมีคุณสมบัติเป็นน้ำกร่อย และน้ำเค็มขึ้นอยู่กับฤดูกาลซึ่งส่งผลต่อปริมาณกุ้งในทะเลสาบ จากสถานการณ์จำนวนผลผลิตกุ้งที่ลดลง ซึ่งมีสาเหตุจากความเสื่อมโทรมของคุณภาพน้ำ (ดังรายงานการศึกษา ‘ทะเลสาบสงขลา 1: การควบคุมมลพิษ’) และการจับสัตว์น้ำมากเกินความสามารถในการฟื้นคืนตามธรรมชาติ (Over-fishing) ดังจะเห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของไซนั่งในช่วง 15 ปี จาก 5,250 8,500 29,604 และ 23,150 ลูก ในปี พ.ศ.2538 2540 2546 และ 2553 ตามลำดับ และด้วยครัวเรือนมากกว่าร้อยละ 40 ที่อาศัยอยู่รอบทะเลสาบ ดำรงชีวิต
ด้วยการทำประมง จึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากผลผลิตที่ลดลงนี้
ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามบังคับใช้มาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา เช่น การห้ามใช้อุปกรณ์ประมงที่เป็นการทำลายล้างที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และกำหนดขอบเขตการวางอุปกรณ์ประมง แต่มาตรการที่ผ่านมายังไม่ส่งผลในทางปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ จึงไม่สามารถควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้
ดังนั้น การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อมุ่งศึกษาการตอบสนองของชาวประมงต่อมาตรการต่างๆ ในการควบคุมการจับสัตว์น้ำภายใต้สิ่งแวดล้อมในทะเลสาบสงขลา เพื่อเป็นแนวทางการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการประมงในทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืนต่อไป
จะแก้ปัญหาการทำประมงที่มากเกินไปได้อย่างไร?
การทำประมงในทะเลสาบนั้นมีลักษณะทางธรรมชาติที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1) เป็นไปไม่ได้ทั้งทางกายภาพ และกฎหมายทีผู้หนึ่งผู้ใดจะใช้ประโยชน์จากพื้นที่ประมงแต่เพียงผู้เดียว 2) การจับสัตว์น้ำของชาวประมงคนหนึ่ง จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตของชาวประมงคนอื่นในปัจจุบัน และผลผลิตในอนาคตของทุกคน เพราะการจับสัตว์น้ำจะส่งผลให้ปริมาณสัตว์น้ำในทะเลสาบลดลง
ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น สัตว์น้ำ หรือป่าไม้ หากเปิดให้ทุกคนใช้อย่างเสรี แต่ละคนจะตักตวงผลประโยชน์ส่วนตนให้มากที่สุด เพราะหากเขาไม่ใช้ ผู้อื่นก็จะเข้าใช้ทรัพยากรส่วนนี้ และสามารถใช้ทรัพยากรได้เพิ่มขึ้น ปัญหานี้เรียกว่า Collective Action Problem ดังนั้น การกำหนดมาตรการควบคุมการใช้ทรัพยากร ซึ่งจำเป็นต้องคำนึงถึงปัญหานี้
เพื่อศึกษาข้อมูลที่สามารถใช้เป็นแนวทางกำหนดนโยบายควบคุมการทำประมงทีมประสิทธิภาพ การวิจัยนี้จงได้เลือกใช้เกมทดลองภาคสนาม (Experimental Games) เพื่อสังเกตการตอบสนองของชาวประมงต่อนโยบายที่เป็นไปได้ต่อไปนี้
- พฤติกรรมการจับสัตว์น้ำ ระหว่างการใช้มาตรการควบคุมโดยรัฐ (External Regulation) และการจัดการกันเองโดยชุมชน (Co-management) มาตรการใดส่งผลต่อความยั่งยืนของทะเลสาบมากกว่ากัน
- วิธีการกำหนดสิทธิการจับสัตว์น้ำชนิดที่สามารถเปลี่ยนมือได้ (ITQs) โดยการซื้อขาย และการกำหนดสิทธิเฉพาะบุคคล (IQs) วิธีการใดส่งผลต่อความยั่งยืนของทะเลสาบมากกว่า
โดยการศึกษาได้สงเกตพฤติกรรมการจับสัตว์น้ำใน 2 สถานการณ์ คือ เมื่อทะเลสาบมีสัตว์น้ำมาก (ความเค็มสูง) ต่างจากสถานการณ์เมื่อทะเลสาบมีปริมาณสัตว์น้ำน้อยกว่า (ความเค็มต่ำ) อย่างไร
การทดลองเพื่อศึกษาการตอบสนองของชาวประมงต่อมาตรการควบคุมการจับสัตว์น้ำ
การทดลองได้เลือกตัวแทนชาวประมงจำนวน 205 คน โดยการสุ่มเลือกชาวประมงที่มีไซนั่งมากกว่า 10 ลูก และมีประสบการณ์การทำประมงไซนั่งมากกว่า 2 ปี จาก 7 ตำบลใน 4 อำเภอรอบทะเลสาบสงขลาตอนใต้ ได้แก่ ปากรอ ป่าขาด สทิงหม้อ เกาะยอ คูเต่า บางเหรียง และควนโส
- การออกแบบการทดลอง
โดยใช้ทฤษฎีเกมชนิดต่อเนื่อง และการตัดสินใจส่วนบุคคล (Non-cooperative Game) เป็นฐานในการออกแบบการทดลอง ในรูปแบบของเกมจับกุ้งในทะเลสาบ ผลประโยชน์ที่ผู้เล่นได้รับจากการจับกุ้ง จะเป็นไปตามหลักธรรมชาติของพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรร่วม (Common-pooled Resource) กล่าวคือ การแลกเปลี่ยน (Trade-off) ระหว่างประโยชน์สวนบุคคล และประโยชน์ของสังคมในทะเลสาบสงขลา (เช่น ผลตอบแทนของแต่ละคนไม่ได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของตัวเองเท่านั้น แต่ยังขึ้นกับการตัดสินใจของกลุ่ม และปริมาณกุ้งที่มีในทะเลสาบ) ผลผลิตกุ้ง (payoff) ที่ผู้เล่นได้รับแต่ละครั้ง จะคำนวณตามแบบจำลองพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรร่วมกัน (สนใจศึกษารายละเอียดได้จากรายงานฉบับสมบูรณ์ www:eepsea.net)
การศึกษาจะแบ่งผู้เล่นออกเป็นกลุ่มๆ ละ 5 คน และแบ่งการเล่นเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกจะเป็นการจับกุ้งอย่างเสรี (Open Access) ช่วงที่สอง เป็นการจับกุ้งภายใต้ข้อกำหนดตามมาตรการ (หรือนโยบาย) ที่ต้องการศึกษา ดังภาพที่ 1.โดยผู้เล่นสามารถจับกุ้งด้วยการวางไซได้ครั้งละ 1-8 ไซ จากนั้นจำนวนไซที่ผู้เล่นแต่ละคนวาง จะถูกนำมาคำนวณผลผลิต และแปลงเป็นเงินที่ผู้เล่นได้รับในแต่ละครั้งของการจับกุ้ง
สถานการณ์ที่ถือว่ามีการทำประมงเกินระดับที่เหมาะสม หรือเกินระดับที่ธรรมชาติจะฟื้นคืนได้ดังเดิม (Over-fishing) คือ จำนวนการวางไซของกลุ่มรวมมากกว่า 20 ลูก ในกรณีมีกุ้งชุกชุม (น้ำเค็มเข้าทะเลสาบ) หรือจำนวนการวางไซของกลุ่มรวมมากกว่า 10 ลูก ในกรณีกงน้อย (น้ำเค็มน้อยกว่า) ซึ่งถ้าการวางไซของกลุ่มรวมเกินกว่าระดับที่เหมาะสม ก็จะส่งผลให้ชาวประมงได้รับส่วนแบ่งกุ้งที่เข้าไซน้อย ตรงกันข้าม หากการวางไซของกลุ่มรวมต่ำกว่าระดับที่เหมาะสมชาวประมงจะได้รบส่วนแบ่งกุ้งที่เข้าไซมาก
กล่าวโดยสรุป คือ ผลประโยชน์ (กุ้ง) ที่ผู้เล่นแต่คนจะได้รับจะขึ้นอยู่กับ 1) จำนวนไซที่แต่ละคนวาง 2) จำนวนไซรวมของกลุ่ม และ 3) ความอุดมสมบูรณ์ หรือปริมาณกุ้งในทะเลสาบ
- การจำลองทางเลือกเชิงนโยบายในการควบคุมการจับสัตว์น้ำ
1.มาตรการบังคับโดยรัฐ (External Regulation)
หลังจากผ่านช่วงที่ 1 ของการจับกุ้งซึ่งมี 10 รอบ จะเป็นการเล่นในช่วงที่ 2 ซึ่งมี 10 รอบเช่นกัน ผู้เล่นมี 3 ชุด โดยผู้เล่นชุดหนึ่งจะเล่นต่อภายใต้ขอสมมติ และเงื่อนไขที่เหมือนกับใน 10 รอบแรก โดยผู้ศึกษาจะสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรประมงในทะเลสาบ หากไม่มีการกำหนดมาตรการใดๆ หรือการให้จับโดยเสรีในระยะยาว ส่วนผู้เล่นอีก 2 ชุด จะเล่นภายใต้มาตรการที่ภาครัฐกำหนดขึ้นมา
หากสถานการณ์น้ำเค็มน้อย (กุ้งน้อย) ผู้เล่นจะได้รับสิทธิวางไซคนละ 2 ลูก และหากน้ำเค็มมาก (กุ้งชุกชุม) ผู้เล่นจะได้รับสิทธิการวางไซเพิ่มขึ้นเป็น 4 ลูก โดยผู้เล่นชุดหนึ่งจะได้รบอนุญาตให้สามารถซื้อขายสิทธิได้ (การจำลองสถานการณ์การกำหนดสิทธิที่สามารถเปลี่ยนมือได้ : ITQs) ในขณะที่ผู้เล่นอีกชุดหนึ่งจะไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้อขายสิทธิ (การจำลองสถานการณ์การกำหนดสิทธิบุคคล: IQs)
การจำลองการตรวจสอบของภาครัฐ
ได้จำลองสถานการณ์ให้สอดคล้องต่อสถานการณ์จริง คือ ภาครัฐไม่สามารถตรวจสอบการกระทำผิดได้อย่างทั่วถึง (โดยทั่วไปจะมีผู้ถูกตรวจสอบ 10%) โดยการใช้ลูกบอล 10 ลูก ประกอบด้วยสีขาว 9 ลูก และสีแดง 1 ลูก ซึ่งในแต่ละรอบผู้เล่นแต่ละคนจะต้องหยิบลูกบอลขึ้นมา 1 ลูก ถ้าหยิบได้ลกบอลสีแดงจะถูกตรวจสอบ และหากพบว่าผู้นั้นละเมิดมาตรการที่กำหนด (วางไซโดยไม่มีใบอนุญาต) จะต้องเสียค่าปรับ
2.การจัดการร่วมกันโดยชุมชน (Co-management)
ผู้เล่นอีก 2 ชุด (ITQs และ IQs) จะเล่นภายใต้สถานการณ์การจัดการร่วมกันโดยชุมชน (Co-management) โดยแต่ละกลุ่มจะได้รบสิทธิให้วางไซ กลุ่มละ 10 ลูก ในกรณีที่น้ำเค็มน้อย และเพิ่มเป็น 20 ลูกในกรณีที่น้ำเค็มมาก ก่อนเริ่มเล่นเกมในช่วงที่ 2 ผู้เล่นในกลุ่มจะต้องปรึกษาหารือกัน 3 ประเด็นคือ
- วิธีการแจกจ่ายสิทธิการจับสัตว์น้ำในกลุ่ม
- ระบบการลงโทษผู้เล่นที่ละเมิดกติกาของกลุ่ม
- สิทธิที่ได้รับจะแลกเปลี่ยนกันด้วยวิธีใด (กรณีการกำหนดสิทธิบุคคล : IQs ไม่ต้องกำหนดวิธีการแลกเปลี่ยนสิทธิ)
หลังจากกลุ่มประชุมปรึกษากันเรียบร้อย การจับกุ้งจะดำเนินต่อไปตามกติกาที่กลุ่มกำหนดขึ้น โดยในรอบแรกที่ทดลองใช้กติกาของกลุ่มผู้ดำเนินรายการจะให้เวลากลุ่มหารือและตัดสินใจอีกครั้งว่าจะยืนยันกติกาเดิม หรือปรับเปลี่ยนกติกาหรือไม่ จากนั้นเกมจะดำเนินต่อไปตามขั้นตอนข้างต้นภายใต้กติกาของกลุ่มจนจบเกม
(ติดตามอ่าน...ทำประมงอย่างไรให้ยั่งยืน : กรณีศึกษาทะเลสาบสงขลา ตอนที่ 2 จบ)