ตรัง - หลายหน่วยงานภาครัฐใน จ.ตรัง หนุนเกษตรกรหันมาปลูกข้าวไร่แซมต้นยางพารา ตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้มีข้าวสารคุณภาพดี ปลอดสารพิษ และอนุรักษ์การปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง อันเป็นการให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพในช่วงวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ
วันนี้ (3 ต.ค.) นายสุณิชย์ ศิริ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขานาวง อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง กล่าวว่า ท่ามกลางความผันผวนของราคายางพาราที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งภาคใต้ แหล่งเพาะปลูกพืชชนิดที่สำคัญแต่โชคดีที่ยังมีหลายหน่วยงานของจังหวัดตรัง ได้จับมือร่วมกับชุมชนเพื่อหาทางสู้ปัญหานี้ 1-2 ปีมานี้ ถือเป็นช่วงที่วิกฤตอย่างยิ่งของชาวสวนยาง โดยเฉพาะในภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพนี้อย่างเดียว เมื่อรายได้ลด แต่รายจ่ายเพิ่ม ผู้คนจึงอยู่อย่างยากลำบาก แต่ด้วยความร่วมแรงร่วมใจของกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) สหกรณ์ ธ.ก.ส. รวมทั้งองค์กรในท้องถิ่น จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการปลูกข้าวในสวนยางด้วยวิถีชุมชนในอดีต ซึ่งก็สามารถให้ผลผลิตได้อย่างน่าพอใจ
โครงการฟื้นฟูและส่งเสริมการปลูกข้าวไร่แซมต้นยาง ตามแนวทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้ถูกริเริ่มขึ้นในพื้นที่ตำบลนาวง อำเภอห้วยยอด เพื่อให้มีข้าวสารคุณภาพดี และปลอดสารพิษ รวมทั้งปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวใต้ จากเดิมที่ทำแค่สวนยางให้หันมาปลูกข้าวเพื่อลดรายจ่าย แถมในหนึ่งรอบการผลิต หรือช่วง 4 เดือน เกษตรกรก็ยังมีรายได้จากการปลูกข้าวไร่ละ 1-2 หมื่นบาทด้วย
นอกจากนั้น โครงการนี้จะช่วยให้ชุมชนมีความเข้มแข็งยั่งยืน และมีข้าวไว้เพียงพอสำหรับสมาชิกในครอบครับ เพราะแค่เพียง 1 ไร่ จะได้ข้าวสารถึง 600 กิโลกรัม ซึ่งล่าสุด เฉพาะในพื้นที่อำเภอห้วยยอด มีเกษตรกรเข้าร่วมปลูกข้าวในสวนยางแล้วเกือบ 700 ไร่ และกำลังขยายผลไปยังอำเภออื่นๆ ด้วย แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง และรักษาประเพณีการปลูกข้าว หลังจากที่ได้สูญหายไปเพราะขาดการเอาใจใส่