xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาต้องทุบทิ้ง “บ่อชุบตัว” ของตำรวจใหญ่ใน ศชต. แล้วหรือยัง? / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

(ภาพจากอินเตอร์เน็ต)
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก

เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเทศบาลตำบลมะกรูด อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ที่ “คนร้าย” หรือ “แนวร่วม” หรือ “จูแว” ตามแต่จะเรียกกัน นับสิบคน ใช้อาวุธสงครามยิงถล่มเจ้าหน้าที่ พนักงานเทศบาลแห่งนี้ เสียชีวิต จำนวน 4 ราย บาดเจ็บอีก 7 คน ผ่านพ้นมาได้ 1 สัปดาห์เศษ แต่ผู้คนในพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ และ คนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังไม่ลืมเหตุการณ์รุนแรงและเลวร้ายที่เกิดขึ้น ยังมีการ “วิพากษ์” ถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ด้วยความหวาดกลัว และเป็นห่วงว่าสถานการณ์จะเพิ่มความรุนแรงยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น พนักงาน และลูกจ้างของ อบต.และเทศบาล ต่างอยู่ในลักษณะของหัวใจที่ “ตุ๊มๆ ต่อมๆ” ทั้งในขณะที่เดินทางไปทำงาน นั่งทำงาน และเดินทางกลับ รวมทั้งคนในครอบครัว ต่างก็ “หวั่นไหว” เพราะไม่รู้ว่า สามี-ภรรยา-ลูกจะได้มีโอกาสกลับบ้าน หรือมีลมหายใจอยู่ถึงวันพรุ่งนี้หรือไม่ เพราะทุกคนในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมที่จะ “ตกตาย” และตกเป็น “เหยื่อ” ของ “โจรร้าย” หรือ “แนวร่วม” ได้ตลอดเวลา

และที่มีการ “วิพากษ์วิจารณ์” ในหมู่ประชาชนคือ เหตุการณ์ผ่านไปหลายวัน แต่เจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้แม้แต่คนเดียว และ 2 ผู้ต้องสงสัยที่มีการควบคุมตัวไปสอบสวนก็มี “ทีท่า” ว่าไม่ใช่ “ของจริง” เป็นเพียงผู้ต้องสงสัยว่าน่าจะเป็น “แนวร่วม” ในพื้นที่เท่านั้น

แถมยังมีเจ้าหน้าที่บางฝ่ายพยายาม “ตะแบง” ให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นที่เทศบาลตำบลมะกรูด อาจจะเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” ของข้าราชการประจำที่มีความ “ขัดแย้ง” ภายใน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าจะ “ชวนหัว” เพราะข้อเท็จจริงที่มีการ “สืบ” ในทาง “ลับ” พบว่า การปฏิบัติการถล่มเทศบาลตำบลมะกรูดครั้งนี้ เป็นการ “สนธิ” กำลังของ “แนวร่วม” หรือ “คนร้าย” ในพื้นที่ อ.เทพา จ.สงขลา กับกลุ่ม “แนวร่วม” หรือ “โจรร้าย” ใน จ.นราธิวาส และบางส่วนของ จ.ปัตตานี

ดังนั้น สิ่งที่ต้องยอมรับความจริงคือ ในพื้นที่ จ.สงขลา ไม่ว่าเป็นที่ อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย อ.จะนะ และ อ.นาทวี ยังเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่มคนร้าย หรือกลุ่มแบ่งแยกดินแดน เพียงแต่ลดการปฏิบัติการทาง “ทหาร” และใช้เป็นพื้นที่ “หลบซ่อน” เพื่อเตรียมพร้อมในการปฏิบัติการในพื้นที่อื่นๆ

ที่สำคัญที่ประชาชนมีการ “วิพากษ์” กันมากคือ จนถึงวันนี้รถยนต์กระบะคันที่ “คนร้าย” ใช้ในการ “ก่อเหตุ” ซึ่งปล้นฆ่าเจ้าของคนรถไปจากพื้นที่บ้าน “ล่องมุด” อ.เทพา จ.สงขลา ยังกลายเป็นวัตถุที่ “ล่องหน” เพราะยังหาไม่พบว่าถูกนำไป “ซุกซ่อน” ไว้ ณ แห่งหนตำบลใดของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

มีแต่การแจ้งเตือนจากหน่วยข่าวความมั่นคงให้ 4 จังหวัดชายแดนภาคภาคใต้ โดยเฉพาะ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ซึ่งกำลังมีงานเทศกาลถือศีลกินผักระมัดระวังให้มาก เพราะรถยนต์คันดังกล่าวอาจจะแปรสภาพเป็น “คาร์บอมบ์” เพื่อสร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้นในพื้นที่

ข่าวที่แจ้งเตือนดังกล่าว จึงทำให้งานเทศกาล “ถือศีลกินผัก” ของปีนี้ คงต้องอยู่ในสภาวะ “กินไปเครียดไป” เพราะไม่รู้ว่ารถยนต์ที่เข้ามาจอดอยู่ในพื้นที่จะกลายเป็น “ระเบิด” ลูก “มหึมา” ในเวลาไหน เช่นเดียวกับคนในพื้นที่ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่ยามนี้ต้องระมัดระวัง “คาร์บอมบ์” ที่อาจจะเกิดขึ้นในทุก “วินาที” ที่เจ้าหน้าที่ “เผลอ” ให้เกิดช่องว่าง

การติดตามคนร้าย ติดตามยานพาหนะ การส่งฟ้องคนร้ายที่กระทำความผิด ซึ่งเป็นงานสืบสวนสอบสวนที่อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งตั้งแต่เกิดเหตุความไม่สงบ “ระลอก” ใหม่ขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เป็นต้นมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการปรับปรุงวิธีการทำงานมาแล้วหลายครั้งหลายหน

ตั้งแต่การแยก 3 จังหวัด 4 อำเภอของ จ.สงขลา ออกจากกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศชต. มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า มีการจัดตั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการ “โจรกรรมรถยนต์” ขึ้นเพื่อแก้ปัญหา “คาร์บอมบ์” และ “จยย.บอมบ์”

แต่สุดท้ายผลงานของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ “คนร้าย” ก่อเหตุแล้วยังคง “ลอยนวล” อยู่ในพื้นที่ และก่อเหตุ “ซ้ำแล้ว ซ้ำอีก” ยานพาหนะที่ถูกปล้น ชิง เพื่อใช้ในการประกอบเป็น “ระเบิด” ก็ยังไม่สามารถติดตามว่าถูกนำไป “ซุก” ไว้ที่อู่รถ หรือเต็นท์รถของใคร ต้องรอจนมีการระเบิดขึ้น จึงจะสามารถลบออกจาก “สารบบ” ได้

เช่นเดียวกับขีดความสามารถในการหาพยานหลักฐานในการจับ “คนผิด” มาลงโทษ ที่ส่วนใหญ่แม้จะจับได้ แต่ไม่มีหลักฐานเพียงพอในการดำเนินคดี จนคดีความมั่นคงกลายเป็นคดีที่ศาลต้องสั่งไม่ฟ้อง ไม่พอฟ้อง ต้องปล่อยตัวคนผิดลอยนวล เพราะมาจากความ “บกพร่อง” ในการทำสำนวนของพนักงานสอบสวนเป็นส่วนใหญ่

กองทัพ หรือทหาร แม้จะเป็นกำลังหลัก และมีเป็นจำนวนมากในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จริงอยู่ แต่งานหลักของกองทัพ หรือของทหารคือ การป้องกัน การคุ้มครองเส้นทาง สาธารณสมบัติ ชีวิต ทรัพย์สินของประชาชนเป็นด้านหลัก รวมถึงงานด้าน “พัฒนา” ที่ “ทหาร” เข้ามาแทนที่หน่วยงานของ “พลเรือน” แต่งานการสืบสวนสอบสวน ติดตามรถหาย ติดตามคนร้าย คืองานหลักของตำรวจ

วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตำรวจทั้งประเทศได้ ผบ.ตร.คนใหม่ ซึ่งได้รับการ “โปรดเกล้าฯ” อย่างเป็นทางการแล้ว ผบ.ตร.คนใหม่คือ “พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง” ซึ่งมีการ “โจษขาน” ทั้งก่อน และหลังการได้รับการแต่งตั้งว่า เป็น “มือดี” และเป็นที่ไว้วางใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ในเรื่องของ “ไฟใต้” นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกให้เป็นปัญหาใหญ่ที่เป็น “วาระแห่งชาติ” แล้ว ดังนั้น เรื่องแรกๆ ของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ม่วง ที่ต้องดำเนินการคือ การเพิ่มขีดความสามารถในด้านต่างๆ ของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นหน่วยงานที่มีประสิทธิภาพ และบุคลากรที่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาที่อยู่ในความรับผิดชอบ

อย่างน้อยการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่งตั้งให้ พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการเกด ซึ่งเป็นตำรวจ “ลูกหม้อ” ของ ศชต.ที่ถูกโยกย้ายไปเป็น ผบช.ประจำสำนักฯ เมื่อ ปี 2556 ใน “ข้อห้าม” ที่ไม่ใช่นักเรียนนายร้อยสามพราน กลับมาเป็น ผบช.ศชต.ในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการถูกต้องที่รู้จัก “ใช้คน” ที่ถูกกับ “งาน” แต่ถ้า ศชต.มีเพียงความเปลี่ยนแปลงแค่นี้ สุดท้ายปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของตำรวจในการดับ “ไฟใต้” ก็คงจะย่ำเท้าอยู่กับที่เหมือนเดิม

เพราะท้ายสุดแล้ว ทั้งปัญหาเรื่องของ “คาร์บอมบ์” ก็จะยังเป็นเหมือน “ปีศาจ” ที่ตาม “หลอกหลอน” ทั้งเจ้าหน้าที่ และประชาชนให้ “ผวา” กันในทุกๆ นาที และ “แนวร่วม” หรือ “คนร้าย” ที่ ก่อกรรมทำเข็ญต่อประชาชนก็ยังยัง “ลอยนวล” เพราะถูก “สั่งไม่ฟ้อง” เกิดขึ้นร้อยละ 70 อย่างที่เป็น ซึ่งสุดท้ายเมื่อ “คนผิด” ไม้ต้องรับโทษ สิ่งที่ติดตามาคือ ความเข้าใจจากคนในพื้นที่ว่า “ตำรวจ” ทำการ “จับแพะ” ก็จะกลายเป็น “ประเด็นร้อน” ของความ “ยุติธรรม” ที่กลายเป็น ปัญหาของการดับ “ไฟใต้” ไม่สำเร็จอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

หวังว่าคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้คงจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของ ศชต. และหวังว่า ศชต.จะเป็นห่วงงานหลักในการดับ “ไฟใต้” และการสร้างกระบวนการยุติธรรมให้เกิดขึ้นแก่คนในพื้นที่ รวมทั้ง ศชต.จะต้องไม่เป็นหน่วยงานที่เต็มไปด้วย “นักบิน” ที่ “โฉบเฉี่ยว” มาหาความดีความชอบเพื่อ “ชุบตัว” ในการ “ไต่เต้า” สู่ตำแหน่งที่ต้องการ โดยมีประชาชน และเพื่อน “ตำรวจ” กลายเป็น “เหยื่อ” ของสถานการณ์เหมือนอย่างที่แล้วๆ มา
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น