xs
xsm
sm
md
lg

มรภ.สงขลา จัดแข่งแทงต้ม-จัดหมรับ เดือนสิบ สืบทอดประเพณีใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มรภ.สงขลา จัด “โครงการสืบสาน และอนุรักษ์ประเพณีวันสารทเดือนสิบ” ขึ้น โดยมีการแข่งขันแกงกะทิกุ้ง การแทงต้ม การจัดหมรับ เพื่อให้นักศึกษาได้สืบทอดประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวใต้ ทั้งยังสอดคล้องต่อพันธกิจของมหาวิทยาลัย

วันนี้ (19 ก.ย.) มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) สงขลา ปลูกฝังให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการสืบสานประเพณีวันสารทเดือนสิบ ไม่ให้สูญหายไปตามยุคสมัย กองพัฒนานักศึกษา ได้จัด “โครงการสืบสาน และอนุรักษ์ประเพณีวันสารทเดือนสิบ” ขึ้น โดยมีตัวแทนนักศึกษาทั้ง 7 คณะ เข้าร่วมแข่งขันแกงกะทิกุ้ง การแทงต้ม และการหมฺรับ เพื่อให้นักศึกษาได้สืบทอดประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวใต้ในการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว สอดคล้องต่อพันธกิจของมหาวิทยาลัยที่มุ่งส่งเสริม สืบสาน สร้างสรรค์ศิลปะ และวัฒนธรรมท้องถิ่น

น.ส.กมลรัตน์ กุลบุตร (น้องเตย) น.ส.ลดาวัลย์ เป้าทอง (น้องแมว) และ น.ส.สุชาดา โหดสุบ (น้องมา) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 โปรแกรมวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการอาหาร คณะเทคโนโลยีการเกษตร เป็นตัวแทนของคณะฯ เข้าแข่งขันแกงกะทิกุ้ง กล่าวว่า แกงกะทิกุ้งเป็นแกงที่นิยมปรุงกันในวันสารทเดือนสิบ โดยแกงกะทิจะกินคู่กับขนมต้ม ซึ่งก่อนการแข่งขันทีมของตนได้นำสูตรแกงกะทิของแต่ละครอบครัวมาปรับให้รสชาติลงตัวมากที่สุด และมีการเพิ่มฟักทองลงไปเพื่อให้รสชาติของแกงกลมกล่อมยิ่งขึ้น

ทีมนักศึกษาจากคณะเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวถึงสิ่งที่ได้รับจากการแข่งขันในครั้งนี้ว่า ได้รับความสมัครสมานสามัคคีในทีม ร่วมกันคิดช่วยกันทำ อีกทั้งยังฝึกความอดทน เนื่องจากกว่าจะได้สูตรที่ลงตัวก็ต้องปรุง และปรับแก้กันหลายครั้ง ซึ่งทีมตนเองมีความหลากหลายที่ลงตัวคือ มีทั้งนักศึกษาไทยพุทธ และไทยมุสลิม แม้จะแตกต่างกันทางศาสนาแต่ก็สามารถเรียนรู้บนความหลากหลายทางศาสนา และวัฒนธรรมได้

ในขณะที่ น.ส.ณัฐวรานาท ใหมตีบ (น้องเมย์) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 โปรแกรมวิชาคหกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นตัวแทนเข้าแข่งขันแทงต้ม กล่าวถึงประเพณีวันสารทเดือนสิบที่ตนเองคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กว่า เป็นประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อของชาวภาคใต้ที่แสดงออกถึงความกตัญญู โดยการทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และนับเป็นวันรวมญาติเพื่อร่วมทำบุญที่บ้านเกิด นับเป็นช่วงเวลาที่ตนเองมีความสุขมาก เพราะทุกคนในครอบครัวได้กลับมาอยู่พร้อมหน้า

น้องเมย์ กล่าวถึงขนมต้มที่เรียกได้ว่าเป็นขนมไทยที่คู่กับประเพณีวันสารทเดือนสิบว่า เห็นคุณแม่ทำขนมต้มตั้งแต่เมื่อครั้งตนเองยังเด็ก เมื่อก่อนคิดว่าเป็นขนมที่ทำยาก เพราะมีหลายขั้นตอน แต่เมื่อโตขึ้นเริ่มจากการสังเกต ซึมซับ และฝึกปฏิบัติมาเรื่อยๆ จนชำนาญสามารถทำได้อย่างคล่องแคล่ว อีกทั้งขนมต้มในความคิดของตนเอง เปรียบเสมือนความเหนียวแน่นของเครือญาติที่จะกลับรวมตัวกันในวันสารทเดือนสิบของทุกๆ ปี

ในตอนท้าย น้องเมย์ ยังฝากถึงเพื่อนๆ และน้องๆ เยาวชนว่า อยากให้ช่วยกันสืบทอดประเพณีวันสารทเดือนสิบ เพราะเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนภาคใต้ที่มีเอกลักษณ์ แสดงถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ และความสามัคคีของเครือญาติ สำหรับผลการแข่งขันแต่ละประเภท ปรากฏว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชนะเลิศการแข่งขันแกงกะทิ และการแทงต้ม ส่วนคณะเทคโนโลยีการเกษตร ชนะเลิศการแข่งขันจัดหมฺรับ

ผลการแข่งขันเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่เป็นหัวใจของโครงการในครั้งนี้คือ การที่นักศึกษาที่เปรียบดังตัวแทนคนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมสืบสานศิลปวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นให้คงอยู่คู่สังคมต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น