xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย มรภ.สงขลา ผุดนวัตกรรมสร้างวัสดุโพลิเมอร์ชนิดใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ดึงคุณสมบัติโพลิเมอร์ผสม สร้างนวัตกรรมใหม่ ยืดหยุ่นเหมือนยาง แต่นำกลับมาใช้ใหม่ได้เหมือนพลาสติก ตั้งชื่อ เทอร์มอพลาสติกอิลาสโตรเมอร์ ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอะไหล่รถยนต์

วันนี้ (15 ก.ย.) ผศ.ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ อาจารย์ประจำโปรแกรมวิชาเทคโนโลยียางและโพลิเมอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงงานวิจัยเรื่อง เทอร์มอพลาสติกอิลาสโตรเมอร์ (Thermoplastic Elastomer) ว่า เป็นการวิจัยเพื่อการปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพ และสมบัติเชิงกลของโพลิเมอร์ผสม 2 ชนิด คือ พอลิสไตรีน กับยางธรรมชาติ เพื่อให้ได้วัสดุใหม่ เรียกว่า “เทอร์มอพลาสติกอิลาสโตรเมอร์” ที่มีสมบัติการยืดหยุ่นได้เหมือนยาง และสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ได้เหมือนพลาสติก โดยทั่วไปยางจะมีความยืดหยุ่นแต่ไม่สามารถนำมากลับใช้ใหม่ได้ ในขณะที่พลาสติก สามารถนำใช้ใหม่ และแข็งแรง แต่ไม่มีความยืดหยุ่น ซึ่งเทอร์มอพลาสติกอิลาสโตรเมอร์ ที่ได้เป็นการนำเอาสมบัติที่ดีของวัสดุตั้งต้นทั้ง 2 ชนิดไว้ด้วยกัน

ผศ.ดร.พลพัฒน์ กล่าวถึงขั้นตอนการผลิตเทอร์มอพลาสติกอิลาสโตรเมอร์ ว่า ทำได้โดยการผสมพอลิสไตรีน กับยางธรรมชาติในสภาวะน้ำยางเข้าด้วยกัน หลังจากนั้น ใส่เบนทอไนต์ (bentonite) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยทำให้พอลิสไตรีน และยางธรรมชาติเข้ากันได้ดีมากขึ้น โดยอัตราส่วนการผสมสารเบนทอไนต์ คือ 3 ส่วนใน 100 ส่วน ส่งผลทำให้เทอร์มอพลาสติกอิลาสโตรเมอร์ ที่ได้มีความต้านทานต่อแรงดึง และแรงฉีกขาดสูงขึ้น ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากเป็นงานวิจัยที่ทำให้รู้ขั้นตอนของการผลิต และสมบัติพื้นฐานของเทอร์มอพลาสติกอิลาสโตรเมอร์

แต่ในส่วนที่จะนำเทอร์มอพลาสติกอิลาสโตรเมอร์ไปใช้ประโยชน์เป็นผลิตภัณฑ์จริงๆ ต้องมีการศึกษาต่อยอดเฉพาะด้าน เช่น ด้านการขึ้นรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งต้องศึกษาสมบัติด้านการแปรรูป และสมบัติเฉพาะด้าน เช่น หากจะนำไปทำอะไหล่รถยนต์ ต้องศึกษาการทนความร้อน และการทนน้ำมันอีกขั้นตอนหนึ่ง โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ขณะนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นบรรลุเป้าหมายตามที่ สกว. วางไว้ โดยส่วนหนึ่งของงานวิจัยครั้งนี้ได้รับการนำเสนอในที่ประชุมวิชาการระดับนานาชาติ (International Conference of Key Engineering Materials 2012) ประเทศสิงคโปร์ และได้รับการตีพิมพ์วารสาร Polymer Engineering and Science ของ Society of Plastics Engineers ฉบับที่ 54 ในปี 2014

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น