xs
xsm
sm
md
lg

จริงหรือนี่! แปลงนาผืนสุดท้ายของภูเก็ต(ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...อรรณนพ เพ็ชรภิมล

"ภาพแมลงปอเกาะกิ่งไม้ล้อสายลมละลิ่ว กลิ่นโคลนตมยามลมโชย และแสงแดดสะท้อนน้ำระยิบระยับกลางทุ่งนาชนบท เป็นภาพที่อาจจะหาชมได้ง่ายในต่างจังหวัดทั่วไป แต่สำหรับเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ต นั้น นับว่าเป็นเรื่องที่หาชมได้ยากที่เดียว เพราะทุ่งนาส่วนใหญ่ในอดีต ถูกแทนที่ด้วยอสังหาริมทรัพย์ และบ้านเรือนหลังโต จนแทบที่จะไม่เหลือแปลงนาให้ชาวภูเก็ตได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาได้อีกเลย"

แต่ก็นับได้ว่ายังเป็นโชคดีที่ชาวบ้านตำบลไม้ขาว อ.ถลาง ยังเล็งเห็นความสำคัญของอาชีพชาวนาและร่วมกันอนุรักษ์อาชีพการทำนา ไว้สอนลูกหลาน โดยไม่หลงกระแสแปลงที่นาเป็นทุนทรัพย์เช่นที่อื่นๆ แถมยังร่วมส่งเสริมให้เยาวชนร่วมอนุรักษ์และหวงแหนที่นาผืนสุดท้ายแห่งนี้ ไว้ให้ชาวภูเก็ตและนักท่องเที่ยวได้ชื่นชม

มาโนช สายทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 กล่าวว่า ที่นาในหมู่ที่ 4 ตำบลไม้ขาวแห่งนี้ นับว่าเป็นที่นาแห่งเดียวของจังหวัดภูเก็ตที่ยังหลงเหลือ ปัจจุบันมีชาวนาที่ยังประกอบอาชีพนี้อยู่เพียง 19 ราย เหลือพื้นที่ทำนาเพียง 76 ไร่ จากอดีตที่เคยมีกว่า 700 ไร่

ในทุกๆวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคมของทุกปี จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการเจ้าหน้าที่ – พนักองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักเรียน และชาวบ้าน มาร่วมแสดงความจงรักภักดี และร่วมกันทำนาปลูกข้าว ก่อนพร้อมใจเกี่ยวข้าวอีกครั้งในวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม

สำหรับการทำนาในปีนี้มีความพิเศษกว่าที่ผ่านมาคือมีการใช้เทคโนโลยีใหม่ในการปลูกข้าวคือการ “ทำนาโยน” ซึ่งเป็นการทำนาที่ไม่ต้องนำกล้าข้าวไปปักดำ แต่จะใช้วิธีการเอาเมล็ดพันธุ์ไปเพาะในวัสดุที่เตรียมไว้เป็นเวลา 15 วัน โดยใช้ดินเหนียวเป็นส่วนผสม ก่อนจะนำไปโยนในแปลงนาที่เตรียมไว้ ซึ่งมีขั้นตอนที่ง่ายและรวดเร็วกว่า แต่ให้ผลผลิตที่ใกล้เคียงกัน

ข้อดีของการทำนาโยนนั้นจะช่วยลดการใช้เมล็ดพันธุ์ได้จำนวนมาก ซึ่งเฉลี่ยจะใช้เมล็ดพันธุ์สำหรับเพาะต้นกล้า 5 กก.ต่อ 1 ไร่ ซึ่งต่างจากการหว่านเพื่อทำนาดำ ที่ต้องใช้เมล็ดพันธ์สูงถึง 15 กก.ต่อไร่ นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดแรงงานได้หลายเท่าตัว เฉลี่ยแรงงาน 1 คนสามารถทำนาโยนได้ 5 ไร่ต่อวัน ขณะที่นาดำจะใช้แรงงาน 4 คน ต่อพื้นที่ 1 ไร่ ต่อวัน

ฉัตรลดา ใจหลัก หนึ่งในตัวแทนภาคเอกชนที่เข้าร่วมกิจกรรมการทำนาโยนครั้งนี้กล่าวว่า ถึงแม้ปัจจุบันเธอจะประกอบธุรกิจส่วนตัว และไม่ได้มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับชาวนาเลยแม้แต่น้อย แต่วันนี้ถือว่ามีความสำคัญที่เธอและครอบครัวจะได้เรียนรู้เรื่องการทำนา จึงตัดสินใจหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อพาพ่อและลูกสาว น้องวาเทียร์ (ด.ญ.เทวาเทียร์ ทาวา) อายุเพียง 8 ขวบ มาเรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาชนบท เพื่อที่ว่าในอนาคตอันใกล้นั้น เธอและครอบครัวจะหนีความวุ่นวายจากเมืองภูเก็ตกลับไปทำนาปลูกข้าวบนผืนนาแปลงน้อย

ทางด้านน้องวาเทียร์เองก็รู้สึกสนุกสนานและรู้สึกชื่นชอบกับการทำนาครั้งแรกในชีวิต เห็นได้จากความมุ่งมั่นและแววตาที่สะท้อนความรู้สึก ถึงแม้อากาศจะร้อน แต่เธอเองก็ตรากตรำโยนกล้าข้าว จนเกือบเป็นคนสุดท้ายที่ขึ้นมาจากท้องทุ่ง เธอบอกว่า “รู้สึกดีอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน”

ไม่ต่างจากน้องๆนักเรียนโรงเรียนบ้านไม้ขาว ที่วันนี้คุณครูได้มาร่วมในกิจกรรม ส่วนใหญ่กล่าวว่า รู้สึกสนุกสนาน รู้ถึงคุณค่าของชาวนา และสิ่งที่ได้นั้นเป็นประสบการณ์หาไม่ได้จากห้องเรียน พร้อมจะนำไปบอกเล่ากับเพื่อนๆที่ไม่ได้มาร่วมในครั้งนี้

ขณะที่ภาพรวมการส่งเสริมของจังหวัดนั้น ล่าสุดได้จัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างโรงสีชุมชนขนาดเล็ก เพื่อให้รองรับข้าวเปลือกที่เก็บเกี่ยวได้ นำมาเข้าสู่กระบวนการสีเป็นข้าวสาร ก่อนกระจายออกสู่ชุมชน ให้คนในชุมชนได้บริโภคข้าวที่มีคุณภาพ

ส่วนในระยะยาวทางจังหวัดได้มีนโยบายที่จะผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีแผนเชิญชวนให้ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวและร่วมเรียนรู้วิถีชีวิตชาวนา โดยที่นี่เองมีข้อได้เปรียบเนื่องจากมีที่ตั้งอยู่ใกล้สนามบินนานาชาติภูเก็ต ซึ่งใช้เวลาในการเดินทางเพียงไม่กี่นาที

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คนในชุมชนไม้ขาวจะเริ่มให้ความร่วมมือกลับมาอนุรักษ์อาชีพการทำนามากขึ้น แต่ในมุมกว้างของภูเก็ตนั้น ยังคงไม่เป็นที่สนใจมากนัก จึงต้องเป็นการบ้านให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า จะทำอย่างไรที่สองสิ่ง ทั้งวิถีชีวิตชุมชนแบบเก่า กับการเจริญเติบโตของสังคมนั้น เดินไปในแนวทางที่สอดคล้องกัน

และจะมีแนวทางอย่างไรให้คนรุ่นใหม่กลับมาให้ความสำคัญ เพื่อให้วิถีชีวิตชนบท ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนรากเง้าของคนภูเก็ต และคนไทยในอดีต จะยังคงอยู่สืบไป...และเป็น “ครัวเล็กกลางเมืองใหญ่”ที่หล่อเลี้ยงชาวภูเก็ต โดยไม่ต้องพึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว








 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น