ตรัง - กรมอุทยานฯ หาดเจ้าไหม จ.ตรัง เผยมีการจับ “หอยมือเสือ” ขึ้นมาใช้ประโยชน์มากเกินกำลังธรรมชาติจะทดแทนได้ เตรียมจับมือกรมประมงขยายพันธุ์หอยมือเสือแบบใหม่ครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อนำคืนสู่ท้องทะเลพร้อมขยายพันธุ์ไปทั่วทั้งฝั่งอันดามัน
วันนี้ (1 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายมาโนช วงษ์สุรีย์รัตน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง กล่าวว่า ขณะนี้หอยมือเสือ ถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์มากจนเกินกำลังธรรมชาติจะทดแทนได้ทัน จนทำให้อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ หรือบางชนิดถูกทำลายจนหมดไปจากบางแหล่ง จึงได้รับการขึ้นบัญชีในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดของสัตว์ป่า และพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือ CITES จัดอยู่ในบัญชีสัตว์สงวน และคุ้มครองประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ของกฎหมายไทย แต่ก็โชคดีที่ล่าสุด หอยบางชนิดสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม การที่จะนำหอยมือเสือกลับคืนสู่ท้องทะเลให้มีประสิทธิภาพนั้น ต้องผ่านการศึกษาวิจัยแบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระทั่งนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กับกรมประมง ด้วยการนำหอยที่มีอายุ 2 ปี จากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ มาเพาะเลี้ยงต่อยังศูนย์วิจัย และพัฒนาประมงชายฝั่งตรัง ก่อนที่จะร่วมกับอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ทำการยึดติดฝาหอยกับก้อนหินด้วยกาวอีพ็อกซี แล้วทิ้งไว้แข็งตัวเหมือนกับเนื้อปูนเป็นเวลา 1 เดือน ก่อนนำลงไปปล่อยสู่ทะเล นับเป็นวิธีการขยายพันธุ์หอยมือเสือครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อให้หอยใช้ชีวิตอยู่ใต้ท้องทะเลแบบธรรมชาติมากที่สุด
เนื่องจากปกติแล้วหอยชนิดนี้จะเกาะติดกับก้อนหินตั้งแต่ตัวยังเล็กๆ จนกระทั่งเมื่อโตขึ้นก็จะอาศัยอยู่อย่างถาวรไม่ขยับตัวไปไหนอีกเลย นอกจากเปิดฝาด้านบนเพื่อรับแสง และกินอาหารเท่านั้น ซึ่งวิธีการยึดตัวหอยเช่นนี้จะทำให้สามารถเติบใหญ่ และขยายพันธุ์ไปทั่วทั้งฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะบริเวณเกาะกระดาน ซึ่งโด่งดังจากงานวิวาห์ใต้สมุทร และเคยเป็นแหล่งที่มีหอยชนิดนี้มากที่สุดของจังหวัดตรัง ขณะเดียวกัน หอยมือเสือที่ปล่อยลงสู่ทะเลทุกตัวจะมีการติดหมายเลข และทำแผนที่ระบุตำแหน่งไว้อย่างชัดเจน เพื่อที่หลังจากผ่านพ้นช่วงมรสุมในอีก 6 เดือนข้างหน้าไปแล้ว เจ้าหน้าที่ นักวิชาการ หรือนักศึกษา จะสามารถดำน้ำลงไปติดตามผลได้