ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - จัดหางานจังหวัดสงขลา เผยไม่มีแรงงานต่างด้าวชาวพม่าที่รับจ้างกรีดยางเดินทางกลับประเทศ หลังพบปัญหาราคายางตกต่ำ แต่หันมาประกอบอาชีพอื่นแทน และยังคงทำงานอยู่ในประเทศไทยเพราะค่าแรงสูง ขณะที่ยอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ จดทะเบียนแล้วทั้งสิ้น 18,400 คน
วันนี้ (27 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพโรจน์ โชติกเสถียร จัดหางานจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ไม่มีแรงงานต่างด้าวชาวพม่าที่รับจ้างกรีดยางพาราใน จ.สงขลา เดินทางกลับประเทศ แต่จะหันไปทำงานอาชีพอื่นแทนเพื่อให้ได้ค่าแรงงานวันละ 300 บาท ซึ่งสูงกว่าการรับจ้างกรีดยาง โดยไปทำงานในด้านการก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพารา และผลิตถุงมือทางการแพทย์แทน แต่ยังคงทำงานอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากยังได้ค่าแรงที่สูง
สำหรับแรงงานต่างด้าวที่มาจดทะเบียนทำอาชีพสวนยางพาราในปีนี้มาจดทะเบียนน้อย เพราะแรงงานต่างด้าวเบนเข็มไปทำงานอื่น ส่วนแรงงานต่างด้าวผู้ที่ถือบัตรสีชมพูไม่สามารถที่จะเปลี่ยนนายจ้างได้ จะต้องทำงานกับนายจ้างเดิม ทั้งนี้ จะเห็นว่านายจ้างที่นำแรงงานต่างด้าวมาขึ้นทะเบียนในกิจการสวนยางแสดงว่าตัวแรงงานต่างด้าวเองก็พร้อมที่จะทำในอาชีพรับจ้างกรีดยางต่อไป
ด้านการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวของ จ.สงขลา ขณะนี้มีนายจ้างนำแรงงานต่างด้าวจาก 3 สัญชาติ ประกอบด้วย พม่า ลาว และกัมพูชา มาจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 7 ก.ค.-25 ส.ค. แล้ว จำนวน 18,400 คน เป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาประกอบอาชีพก่อสร้าง ทำสวนยางพารา และโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเล โรงงานแปรรูปไม้ยางพารา โรงงานผลิตน้ำยางข้น โรงงานทำถุงมือยางทางการแพทย์ แรงงานประมง และธุรกิจต่อเนื่องประมง