xs
xsm
sm
md
lg

ธ.ก.ส.ตรังเร่งจ่ายเงินค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ธ.ก.ส.ตรัง เดินหน้าแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ พร้อมเร่งจ่ายเงินค่าปัจจัยการผลิต แนะเกษตรกรต้องทำงานหนัก และหารายได้เพิ่ม รวมทั้งควรที่จะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้

นายภาณุมาศ ตั้นซู่ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา มีเกษตรกรชาวสวนยางพารามาลงทะเบียนในโครงการไว้ทั้งหมด 58,000 ราย และได้โอนให้ ธ.ก.ส. เพื่อจ่ายเงิน 12,630 ราย ซึ่งจังหวัดตรัง ถือเป็นอันดับที่ 2 ในภาคใต้ รองจากจังหวัดนครศรีธรรมราช และขณะนี้มีเกษตรกรชาวสวยยางพาราที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วมีปัญหา จำนวน 4,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่จะมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด โดยทางจังหวัดได้เน้นย้ำให้ผู้รับผิดชอบทำหนังสือติดต่อประสานไปยังเกษตรกรดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร

เพื่อติดตามผลการดำเนินงานความคืบหน้าตามลำดับ สำหรับในส่วนของปัญหาและอุปสรรคนั้นพบว่า เอกสาร และหลักฐานของเกษตรกรส่วนใหญ่มีความซ้ำซ้อน และไม่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ หรือเกษตรกรบางรายที่ขึ้นทะเบียนมีเอกสารสิทธิที่ดินหลายแปลง รวมทั้งข้อมูลไม่เรียบร้อย จนทำให้เกิดการล่าช้าเป็นอย่างมาก นายภาณุมาศ เปิดเผยอีกว่า ขณะนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายให้ข้าราชการทำงานรับใช้ประชาชนโดยปลอดการเมือง เพื่อสร้างความสุขให้คนทั้งประเทศ ในส่วนของยางพาราพบว่า การแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น โดยรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ได้อนุมัติค่าปัจจัยการผลิตไร่ละ 2,520 บาท เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพารา

และขณะนี้ทาง ธ.ก.ส.จังหวัดตรัง ก็ได้จ่ายเงินให้เกษตรกรตามรายที่ถือครอง ซึ่งมียอดเงินที่ได้โอนเข้าบัญชีของเกษตรกร จำนวน 70,389 แปลง ยอดเงินสะสม 1,267,379,190 บาท โดยเกษตรกรสามารถเบิกได้ 2 ช่องทาง คือ เบิกผ่านตู้ ATM ทุกธนาคาร หรือจะเบิก ณ เคาน์เตอร์บริการของ ธ.ก.ส. ได้ทุกสาขา เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรชาวสวนยาง

นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสำนักงาน ธ.ก.ส.จังหวัดตรัง ยังแนะนำฝากข้อคิดให้ชาวสวนยางพาราตระหนักถึงการหารายได้ให้พอเพียงต่อรายจ่าย มีเงินคงเหลือเพียงพอต่อการครองชีพ และอย่ายึดอาชีพเดียว เนื่องจากปัจจุบันชาวสวนยางพาราของประเทศไทยเป็นรายย่อย ซึ่งจะมีเนื้อที่สวนยางพาราเฉลี่ยประมาณ 10 ไร่เศษ/ครัวเรือน มีผลผลิตเฉลี่ย 264 กก./ไร่/ปี หรือคำนวณเป็นเงินรายได้มากกว่า 1 แสนบาทต่อปี ดังนั้น จึงจำเป็นที่เกษตรกรต้องทำงานหนัก และหารายได้เพิ่ม รวมทั้งควรที่จะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น