นครศรีธรรมราช - นักวิชาการภาคใต้ร่อนแถลงการณ์แนะทหารหนุนให้เปิดเวทีถกเถียงเรื่องพลังงานอย่างสร้างสรรค์ จี้ปล่อยตัว “11 ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” ต้องกล้าทิ้งประโยชน์กลุ่มทุน แล้วหันร่วมปกป้องประโยชน์ชาติอย่างแท้จริง
วันนี้ (23 ส.ค.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช นักวิชาการในสถาบันการศึกษาหลายแห่งในภาคใต้ตอนบนได้ร่วมกันออกแถลงการณ์ในนาม “กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาชนจังหวัดนครศรีธรรมราช” ในขณะการประชุมทางวิชาการในสถานที่แห่งหนึ่ง ก่อนส่งผ่านแถลงการณ์ให้แก่ผู้สื่อข่าว เพื่อแสดงข้อเรียกร้อง และความเห็นต่อกรณีทหารจากมณฑลทหารบกที่ 42 ได้เข้าเชิญตัวกลุ่มนักกิจกรรมในนาม “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงานงาน” จำนวน 11 ราย ที่ออกเดินจากอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เข้าสู่กรุงเทพมหานคร ขณะที่กำลังเดินมุ่งหน้าเข้าสู่เขตจังหวัดพัทลุง เมื่อ 3 วันก่อน โดยมีเนื้อหาแถลงการณ์ฉบับนี้ความว่า
แถลงการณ์ เรื่อง “การจับกุมประชาชนที่รณรงค์ปฏิรูปพลังงานในภาคใต้” จากการที่สังคมไทยได้มีความตื่นตัวเรื่องการปฏิรูปพลังงานมาโดยตลอด เนื่องจากเห็นว่าประเทศเราปล่อยให้กลุ่มทุนทั้งนอกประเทศ และในประเทศเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศชาติ ในขณะที่ผลักภาระการใช้พลังงานไม่ว่าจะในรูปน้ำมัน หรือก๊าซราคาแพงไปให้ประชาชน การปะทุขึ้นของพลังประชาชนจำนวนมหาศาลในการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศที่ผ่านมานั้น ข้อเรียกร้องที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ การปฏิรูปด้านพลังงาน
เมื่อคณะทหารเข้ามายึดการปกครองของประเทศโดยเรียกตัวเองว่า “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” และประกาศว่าจะนำพาประเทศไปสู่ความถูกต้อง ประชาชนก็คาดหวังว่าจะเกิดการปฏิรูปพลังงานไปในแนวทางที่เหมาะสมด้วย แต่สิ่งที่ คสช. ดำเนินการหลายเรื่องก่อให้เกิดความหวั่นวิตกในหมู่ประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้ว่า จะไม่ได้เป็นปฏิรูปพลังงานไปในทางที่เหมาะสม และมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนไปในทางที่กลุ่มทุนจะได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น
ประชาชนกลุ่มหนึ่งในภาคใต้ซึ่งเรียกตัวเองว่ากลุ่ม “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” จึงแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้ คสช.ตระหนักว่า กำลังจะดำเนินนโยบายด้านพลังงานผิดพลาด และเสนอความคิดว่าที่ควรจะเป็นนั้นเป็นอย่างไร โดยประชาชนกลุ่มนี้ได้รณรงค์เดินทางไกลไปถึงกรุงเทพฯ ซึ่งการเดินทางไกลดังกล่าวก็เป็นไปอย่างสงบ และคนกลุ่มนี้ก็มีความตั้งใจเพียงที่จะให้เป็นเพียงการแสดงออกของคนกลุ่มเล็กๆ ไม่ต้องการใช้จำนวนคนไปข่มขู่ คสช.แต่ประการใด
หาก คสช.ใช้ท่าทีของผู้ปกครองที่มีคุณธรรม พร้อมจะรับฟังปัญหาเชิงสร้างสรรค์จากประชาชน เหตุการณ์ลักษณะนี้ก็จะจบลงด้วยดี แต่น่าเสียดายที่ คสช.กลับใช้ท่าทีของผู้ปกครองเผด็จการ คือ การอ้างกฎอัยการศึกแล้วจับกลุ่มประชาชนดังกล่าวไปกักขังไว้ในค่ายทหาร โดยไม่แยกแยะว่ากลุ่มประชาชนดังกล่าวคือ ผู้ที่หวังดีต่อประเทศชาติ มีพยานประจักษ์ถึงการเคลื่อนไหวของพวกเขาได้เป็นอย่างดี ขณะนี้มีประชาชนที่พร้อมจะสืบทอดเจตนารมณ์ของการเดินทางไกลดังกล่าวโดยไม่กลัวการจับกุม โดยที่ฝ่ายทหารก็ยังคงใช้ท่าทีของการอ้างกฎอัยการศึกเช่นเดิม พวกเราเกรงว่าสถานการณ์จะขยายตัวไปสู่ความขัดแย้งมากกว่านี้ จึงมีความเห็นต่อสถานการณ์ดังกล่าวดังต่อไปนี้”
1.ปัญหาพลังงานเป็นคำถามใหญ่ของประเทศชาติ เพราะเป็นคำถามว่า “จะใช้ทรัพยากรของชาติเพื่อผลประโยชน์ของใคร” เนื่องจากที่ผ่านมา มีหลักฐานยืนยันได้ชัดเจนว่าอำนาจรัฐได้สมคบคิดกับกลุ่มทุนแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากร ในขณะที่ประชาชนต้องทนอยู่กับการใช้พลังงาน (นำมันและก๊าซ) ราคาแพง รวมทั้งค่าครองชีพต่างๆ ของประชาชนก็สูงเป็นเงาตามตัว เนื่องจากทุกฝ่ายต้องมีต้นทุนจากราคาพลังงานสูงด้วยกันทั้งสิ้น จึงไม่แปลกอะไรที่กลุ่มทุน และนักการเมืองที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรดังกล่าวจะร่ำรวยมหาศาล ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องอยู่อย่างอัตคัดขัดสน ดังนั้น เราจึงเห็นด้วย และขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “กลุ่มขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” และเห็นว่า คสช.ควรจะรับฟังข้อเสนอ เมื่อมีอะไรเห็นต่างกันก็ควรแลกเปลี่ยนกันในเชิงวิชาการอย่างจริงจัง และสร้างสรรค์
2.เราเห็นว่าสิทธิในการปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และไม่ว่าจะเป็นการปกครองแบบไหนก็ควรจะส่งเสริมสิทธินี้ เพราะสังคมจะเข้มแข็งได้ก็ด้วยการส่งเสริมให้คนเห็นความสำคัญของส่วนรวม ดังนั้น การพยายามทำลายความชอบธรรมของการกระทำเพื่อส่วนรวม หรือการพยายามยัดเยียดข้อหาให้แก่ผู้กระทำเพื่อส่วนรวม หรือการทำให้เห็นว่ามีแต่ผู้ปกครองเท่านั้นที่จะพูดถึงเรื่องส่วนรวมได้ ก็เท่ากับพยายามให้คนอยู่แบบตัวใครตัวมัน หรือเท่ากับเป็นการจงใจกระทำให้สังคมอ่อนแอนั่นเอง นอกจากนี้ การที่ประชาชนจะเสนอมุมมองที่คัดค้าน หรือทักท้วงผู้ปกครองก็ถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสังคมอารยะเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเมื่อการทักท้วงนั้นเป็นไปโดยสุจริตใจ และเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมโดยแท้จริง เพราะว่าประเทศชาติจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีประชาชนเป็นพื้นฐาน ผู้ปกครองที่เกิดขึ้นไม่ว่ายุคไหนก็ต้องเป็นไปเพื่อบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ประชาชน
ซึ่งหลักการนี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อผู้ปกครองต้องฟังเสียงของประชาชนที่แสดงออกอย่างสุจริตใจ ในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชกาลที่ 7 ได้ปรากฏข้อความที่ยืนยันถึงหลักการนี้ จนเป็นพระราชหัตถเลขาที่ทั้งประชาชน และผู้ปกครองที่อยู่ในทำนองคลองธรรมต่างตระหนักถึงความสำคัญเสมอมา คือ “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร”
3.การกระทำเช่นนี้ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งโดยตรงมาจาก คสช. หรือทหาร และข้าราชการฝ่ายปกครองที่อยู่ในต่างจังหวัดจะกระทำไปโดยพลการ ต่างก็ไม่เป็นผลดีต่อการปกครองประเทศ เพราะจะนำไปสู่สถานการณ์เผชิญหน้าที่กว้างขวางขึ้น ทั้งนี้ ผู้ปกครองประเทศต้องไม่ลืมว่าการที่การยึดอำนาจ และการปกครองประเทศระหว่างนี้เป็นไปอย่างราบรื่นนั้นเพราะประชาชนเขาหวังว่าคณะผู้ยึดอำนาจจะแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศชาติ และนำประเทศชาติไปสู่ทิศทางที่ถูกต้องได้ ไม่ใช่เพราะเขากลัวกฎอัยการศึก
แต่ถ้าหากประชาชนเปลี่ยนความคิดไปเมื่อใด เขาก็จะออกมาคัดค้าน และไม่มีทางที่ทหารจะนำไปกักขังได้หมด เพราะพวกเขาจะทยอยหนุนเนื่องมาแบบระลอกคลื่น ดังนั้น ทางที่ดีผู้ปกครองจะต้องรับฟังปัญหา และหาทางติดต่อสื่อสารกับประชาชนอย่างสร้างสรรค์ โดยเฉพาะในสถานการณ์เฉพาะหน้านี้ควรจะต้องรีบปล่อยประชาชนที่นำไปกักขังตัวไว้ทันที และเปิดเวทีพูดคุยเชิงสร้างสรรค์ และควรหยุดใช้ท่าทีข่มขู่คุกคามดังปรากฏเป็นข่าวว่าเวทีการพูดคุยระหว่างฝ่ายทหารกับประชาชนในภาคใต้มักจะล่ม เนื่องจากประชาชนไม่สามารถยอมรับท่าทีของการใช้อำนาจข่มขู่คุกคามได้
เราหวังว่าข้อเสนอของเราคงช่วยให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปพิจารณาอย่างสร้างสรรค์ และหวังว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันหาทางออกให้แก่ประเทศชาติอย่างแท้จริง โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่คนทั้งชาติจะได้รับมากกว่าผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ก่อนที่จะลงท้ายแถลงการณ์ในนามกลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาชน จังหวัดนครศรีธรรมราช