xs
xsm
sm
md
lg

สมาชิกสหกรณ์สวนยางภาคใต้เตรียมกู้เงินสร้างบริษัท แก้ปัญหาราคายางตกต่ำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สหกรณ์ชาวสวนยางประชุมสมาชิก 14 จังหวัดภาคใต้ มีมติกู้เงินจาก สกย.ลงทุนสร้างบริษัท อุตสาหกรรมยางไทย แก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำในรอบ 100 ปี โดยมีแผนจะชำระเงินคืนภายใน 3 ปี ยืนยันไม่นำต่างชาติเข้าร่วมหุ้นเด็ดขาด

วันนี้ (19 ส.ค.) ที่สำนักงานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายเพิก เลิศวังพง ประธาน ชสยท. เป็นประธานในการประชุมผู้แทน และแกนนำกลุ่มชาวสวนยางพาราในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวนกว่า 50 คน โดยสาระสำคัญคือ ที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการสนับสนุนการลงทุนก่อสร้าง บริษัท อุตสาหกรรมยางไทย ซึ่งเป็นบริษัทมหาชน เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำที่กำลังประสบอยู่ในขณะนี้

นายเพิก กล่าวว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรชาวสวนยางประมาณ 1 ล้านครัวเรือน รวมเนื้อที่ 22 ล้านไร่ ซึ่งการลงทุนสร้าง บริษัท อุตสาหกรรมยางไทย จะเป็นการพึ่งพาตนเองของเกษตรชาวสวนยางพาราอย่างแท้จริง โดยแนวคิดดังกล่าวจะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึงประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งจะให้สมาชิก ชสยท. เครือข่ายชาวสวนยางทั่วประเทศ ทำการกู้เงินมาจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ตามมาตรา 7 ที่อนุญาตให้ชาวสวนยางกู้ได้ โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี มาลงทุนรายละ 50,000 บาท ซึ่งขณะนี้ทาง สกย. รับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

ล่าสุด เงินทุนของ สกย.มีมากถึง 30,000 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการดำเนินงานตามแผนที่ได้วางเอาไว้ภายในสิ้นเดือน ส.ค.นี้ ประธาน ชสยท.ยังกล่าวอีกว่า การขอกู้เงินในครั้งนี้จะมีการชำระคืนภายใน 3 ปี และโรงงานอุตสาหกรรมผลิตล้อยางรถยนต์ของชาวสวนยางพารา จะมีการคืนทุนภายใน 3 ปี เช่นเดียวกัน โดยโรงงานอุตสาหกรรมล้อยางรถยนต์จะมีกำลังการผลิตวันละประมาณ 2,000 เส้น หรือ 700,000 เส้น/ ปี แต่ทั้งนี้ ทาง ชสยท. ตั้งเป้าการผลิตในเบื้องต้นอยู่ที่ปีละ 100,000 เส้น เพื่อนำร่องให้เกษตรกรชาวสวนยางพาราที่มีรถยนต์เป็นของตนเองได้นำไปใช้กันก่อน

“ทุกวันนี้ชาวสวนยาพาราประสบชะตากรรมชอกช้ำมากที่สุดในรอบ 100 ปี จึงจำเป็นต้องลงทุนกันเองในการสร้างความมั่นคง และอนาคตของชาวสวนยางพารา ทั้งนี้ จะไม่เอาต่างชาติเข้าร่วมถือหุ้นเป็นอันขาด โดยหลังจากนี้จะมีการนำแนวคิด บริษัท อุตสาหกรรมยางไทย ไปเสนอต่อที่ประชุม ชสยท.ภาคอีสาน และภาคเหนือ เพื่อขอความคิดเห็นเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะมีมติเป็นเอกฉันท์เช่นเดียวกับภาคใต้” นายเพิก กล่าว


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น