xs
xsm
sm
md
lg

อัยการภาค 9 เผยงานวิจัยการดำเนินคดีความมั่นคง-วิเคราะห์คำพิพากษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อัยการภาค 9 เปิดตัวผลงานวิจัยการประเมินประสิทธิภาพของรัฐในการดำเนินคดีความมั่นคง และวิเคราะห์คำพิพากษาคดีความมั่นคง ในจังหวัดชายแดนใต้

วันนี้ (16 ส.ค.) สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาค 9 สำนักงานอัยการภาค 9 สำนักงานอัยการสูงสุด จัดงานเปิดตัวผลงานวิจัยล่าสุด เรื่อง การประเมินประสิทธิภาพของรัฐในการดำเนินคดีความมั่นคง และวิเคราะห์คำพิพากษาคดีความมั่นคง และวิเคราะห์คำพิพากษาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนใต้ ณ โรงแรมราชมังคลา พาวีเลียนบีช รีสอร์ท จังหวัดสงขลา โดยมี นายมนัส สุขสวัสดิ์ รองอัยการสูงสุด เป็นประธานเปิดงาน และมีตัวแทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคประชาสังคมเข้าร่วมงานจำนวนมาก

การวิจัยนี้เป็นความร่วมมือครั้งที่ 2 ระหว่างสำนักงานอัยการภาค 9 และมูลนิธิเอเชีย โดยดำเนินการศึกษาคดีความมั่นคงทั้งหมดในจังหวัดชายแดนใต้ ในระหว่างเดือนสิงหาคม 2555 ถึงเดือนกรกฎาคม 2556 (ต่อเนื่องจากการวิจัยครั้งก่อน ซึ่งศึกษาคดีความมั่นคงในช่วงระหว่างเดือนมกราคม 2557 ถึงเดือนกรกฎาคม 2555) และศึกษาวิเคราะห์คำพิพากษาในคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงกว่าร่อยละ 80 ของทุกคดีซึ่งศาลมีคำพิพากษาตั้งแต่ปี 2554-2556 โดยมุ่งเน้นที่การศึกษาปริมาณคดีความมั่นคง ประสิทธิภาพและความสำเร็จของการดำเนินคดีความมั่นคงโดยใช้พยานหลักฐานนิติเวชศาสตร์ และนิติวิทยาศาสตร์ และพยานหลักฐานอื่น ทั้งในชั้นก่อนฟ้อง และในชั้นที่ศาลมีคำพิพากษา

จากผลการศึกษาพบว่า ตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2555 ถึง 31 กรกฎาคม 2556 มีจำนวนคดีความมั่นคงที่สำนักงานอัยการจังหวัดชายแดนใต้ทั้งสิ้น 466 คดี คิดเป็นคดีที่ไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิด (ส.3) มากที่สุด คือ ร้อยละ 51.07 และรองลงมาเป็นคดีที่รู้ตัวผู้กระทำผิด (ส.1) คิดเป็นร้อยละ 27.90 โดยในจำนวนร้อยละ 27.90 นี้ อัยการมีคำสั่งฟ้องทุกข้อหา หรือบางข้อหาคิดเป็นร้อยละ 61.64 (98 คดี) และสั่งไม่ฟ้องคิดเป็นร้อยละ 38.36 เมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับช่วงระยะเวลาก่อนหน้าคือ ระหว่างปี 2547-2555

ระยะเวลาเฉลี่ยในการสั่งฟ้องคดีความมั่นคงของอัยการ นับตั้งแต่วันรับคดีจนถึงวันที่มีคำสั่งคดีคือ 20.24 วัน ใช้เวลาลดลงร้อยละ 90.38 จากจำนวนวันเฉลี่ยซึ่งอัยการใช้ในการสั่งฟ้องคดีในช่วงปี 2547-2555 คือ ใช้เวลาเฉลี่ย 210.36 วัน ทั้งนี้ ระยะเวลาเฉลี่ยในการสั่งคดีที่ลดลงมากอาจเป็นผลมากจากการที่พนักงานอัยการมีประสบการณ์ในการดำเนินคดีความมั่นคงเพิ่มขึ้น รวมทั้งพนักงานอัยการที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ ได้รับการฝึกอบรม และได้รับหนังสือแนวทางการดำเนินคดีความมั่นคงไว้ใช้ในการปฏิบัติ

อย่างไรก็ดี พบว่าการพิจารณาคดีในชั้นศาลใช้ระยะเวลานานกว่าค่อนข้างมาก เนื่องด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น ไม่มีกฎหมายบังคับให้ศาลต้องพิจารณาและพิพากษาให้แล้วเสร็จในกำหนดเวลาหนึ่งเวลาใด คู่ความขอเลื่อนคดี ปัญหาการติดตามตัวพยาน หรือบางคดีมีความซับซ้อน และพยานเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก เป็นต้น


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น