สุราษฎร์ธานี - ชาวประมงพื้นบ้านดอนสัก สุราษฎร์ธานี ที่ปิดท่าเรือบริษัทซีทราน เฟอร์รี่ ยอมปล่อยรถนักท่องเที่ยวกว่า 300 คันแล้ว แต่ยังปิดท่าเรือต่อเพื่อกดดันบริษัทให้จ่ายชดเชยค่าเสียหายอุปกรณ์ทำประมงพื้นบ้านต่อไปจนกว่าจะได้ข้อยุติ ส่วนการเดินทางข้ามเกาะสมุย เกาะพะงัน ยังปกติ เพราะมีบริษัทเอกชนอีกหนึ่งรายที่ให้บริการขนส่งตามปกติ
จากกรณีที่ชาวประมงพื้นบ้านในอำเภอดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี กว่า 300 คน นำอวนจับปลาที่เสียหาย พร้อมตั้งเต็นท์ และอุปกรณ์เครื่องเสียงมารวมตัวปิดถนนเข้าออกท่าเรือเฟอร์รี่ ของบริษัท ซีทราน เฟอร์รี่ ที่จะข้ามไปยัง เกาะสมุย เกาะพะงัน ตั้งแต่เวลา 09.00 น.เป็นต้นมา เนื่องจากไม่พอใจผู้บริหารที่ไม่จ่ายค่าเสียหายจากเรือขุดลอกร่องน้ำทำลายอุปกรณ์ทำการประมงของชาวประมงพื้นบ้าน จำนวน 67 ราย คิดเป็นจำนวนเงิน 780,255 บาท ตามคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่ายที่ทางจังหวัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนส่งผลกระทบต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวไทย และต่างชาติ และมีรถยนต์ตกค้างอยู่ในบริเวณท่าเรือกว่า 300 คัน
ล่าสุด เมื่อช่วงเย็นวันนี้ (5 ส.ค.) นายประกอบ จันทร์แก้ว นายกเทศบาลเมืองดอนสักได้เจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุมจนยินยอมปล่อยรถทั้งหมดออกจากท่าเรือ โดยไม่มีตกค้าง
นายประกอบ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากผู้บริหารบริษัทปัดความรับผิดชอบ แต่แอบไปเจรจาจ่ายเงินค่าเสียหายต่อกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน จำนวน 16 คน โดยไม่ผ่านคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย จนสร้างความไม่พอใจแก่ชาวประมงพื้นบ้าน โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ยื่นข้อเรียกร้องให้ทางผู้ประกอบการชดใช้ค่าเสียหายที่เรือขุดลอกร่องน้ำของบริษัททำลายอุปกรณ์การทำประมงที่เหลืออีก 51 ราย โดยไม่มีข้อแม้ หากทางผู้ประกอบการไม่ตกลงทางกลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันชุมนุมยืดยื้อไม่ยินยอมสะลายตัว จะดำเนินการปิดทางเข้าออกท่าเรือต่อไปจนกว่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจน
ส่วนการเดินทางข้ามเกาะสมุย และเกาะพะงัน ยังสามารถเดินทางได้ตามปกติ เนื่องจากยังมีบริษัท ราชาเฟอร์รี่ จำกัด ให้บริการเดินเรือข้ามฟากอีก 1 ท่า แต่การเดินทางจะล่าช้ากว่าปกติ ซึ่งผู้ประกอบการยันว่า จะให้บริการขนส่งนักท่องเที่ยวไปจนกว่าจะหมด