พังงา - สำนักอุทกวิทยา กรมทรัพยากรน้ำ เร่งตรวจสอบการทำงานของเครื่องเฝ้าระวังน้ำท่วม ดินถล่ม หลังจากติดตั้งแล้ว 25 จุดเสี่ยงในพังงา ด้านกรมอุตุฯ แจ้งขยายวันฝนตกหนัก พร้อมเฝ้าระวังน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก
วันนี้ (30 ก.ค.) นายศักดิ์ชัย ตันติวิวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนอุทกวิทยา สำนักงานทรัพยากรน้ำ ภาค 10 (สุราษฎร์ธานี) พร้อมด้วย นายสมเกียรติ อินทรคำ ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดพังงา และคณะ ได้เข้าตรวจสอบการทำงานของเครื่องเฝ้าระวังและเตือนภัย พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลัน-ดินถล่ม ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำ ส่วนอุทกวิทยา ที่ติดตั้งในพื้นที่จังหวัดพังงา จำนวน 25 แห่ง เพื่อเตรียมความพร้อม และเป็นการทดสอบการทำงานของเครื่องเฝ้าระวังฯ โดยจังหวัดพังงา มีเป้าหมายในการติดตั้งเครื่องวัดเฝ้าระวังฯ นี้จำนวน 60 แห่ง ซึ่งติดตั้งไปแล้ว จำนวน 25 แห่ง ในพื้นที่เสี่ยงทุกอำเภอของจังหวัดพังงา ยกเว้นอำเภอทับปุด
ในขณะที่จังหวัดพังงา ประสบปัญหาฝนตกหนักในพื้นที่ โดยเฉพาะในอำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอเมืองพังงา ซึ่งระดับน้ำยังคงทรงตัว และมีการแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ในกรณีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่เสี่ยง ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม 2557 ถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2557 เพิ่มเติม
ผู้อำนวยการส่วนอุทกวิทยา กล่าวว่า เครื่องเฝ้าระวังและเตือนภัยพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลัน-ดินถล่ม กรมทรัพยากรน้ำ ส่วนอุทกวิทยา นั้นมีการทำงานโดยการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในพื้นที่แต่ละแห่งตามภูมิศาสตร์ เช่น ในพื้นที่ที่มีแม่น้ำ ลำคลอง ห้วย หนอง บึงต่างๆ เครื่องนี้สามารถแจ้งเป็น 3 ระดับ คือ หากมีระดับน้ำปกติก็จะไม่มีการแจ้งเตือน แต่หากมีระดับน้ำสูงจนถึง 50-100 เซนติเมตร จะมีเสียง และไฟเขียว เป็นการแจ้งให้เฝ้าระวัง และติดตามข้อมูลจากทางราชการ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
หากระดับน้ำขึ้นสูง 100-150 เซนติเมตร มีเสียง และไฟสีเหลือง เป็นการแจ้งให้เตรียมอพยพ หรือเก็บข้าวของเพื่อย้ายไปอยู่ที่ปลอดภัย ระดับน้ำขึ้นสูง 150 เซนติเมตร ขึ้นไป จะมีเสียง และไฟสีแดง เป็นการแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่อพยพไปอาศัยอยู่ในที่สูง หรือที่ปลอดภัย โดยเครื่องดังกล่าวจะมีทั้งระบบที่วัดประมาณน้ำจากพื้นที่ลุ่ม หรือลำคลองต่างๆ ส่วนพื้นที่ราบลุ่มเสี่ยงต่อน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ก็จะมีกระบอกที่สามารถทำให้เครื่องเฝ้าระวังฯ แจ้งต่อประชาชนในพื้นที่ได้ นอกจากนี้ ยังมีกระบอกวัดปริมาณน้ำแบบไม่ใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะมีผู้ที่จดระดับน้ำในช่วงฝนตกหนัก หรือฝนตกต่อเนื่องเพื่อให้บุคคลดังกล่าวแจ้งเตือนต่อประชาชน และรายงานให้ทางหน่วยงานรับผิดชอบ หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ได้ทราบ