ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “นางเงือกทอง” สัญลักษณ์ของชายหาดแหลมสมิหลา จ.สงขลา เริ่มชำรุดมีรอยแตกร้าวหลายจุด หลังสร้างมานานานเกือบ 50 ปี เนื่องจากสภาพอากาศ และนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกเป็นจำนวนมาก ประชาชนในพื้นที่วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบูรณะซ่อมแซม
วันนี้ (30 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “นางเงือกทอง” สัญลักษณ์ของชายแหลมสมิหลาสงขลา และสัญลักษณ์ของ จ.สงขลา ที่ตั้งอยู่บนโขดหินริมชายหาดแหลมสมิหลา เริ่มชำรุดมีรอยแตกร้าวและผุกร่อนเป็นรูหลายจุด โดยเฉพาะบริเวณส่วนหาง ลำตัว และผมที่มีสีซีดจาง รวมทั้งบริเวณฐานนางเงือกทอง ก็ชำรุดทรุดโทรมเกือบทั้งหมด เป็นผลมาจากสภาพอากาศ และนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปนั่งถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกหลังจากที่ถูกสร้างมานานเกือบ 50 ปี และมีแนวโน้มที่จะชำรุดขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นหากไม่มีการเร่งบูรณะซ่อมแซม โดยผู้ประกอบการบริเวณชายหาดเรียกร้องให้ทางเทศบาลนครสงขลา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งบูรณะซ่อมแซมโดยด่วน
สำหรับประวัติ นางเงือกทอง ที่แผ่นจารึกที่ติดอยู่ที่ชายหาด เขียนไว้ว่า นางเงือกทอง สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2509 ตามดำริของ นายชาญ กาญจนาคพันธุ์ ปลัดจังหวัดสงขลา ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองสงขลาด้วย โดยให้อาจารย์วิจิตร บัวบุศย์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเพาะช่าง เป็นผู้ปั้นหล่อ จากบรอนซ์รมดำ โดยใช้งบประมาณของเทศบาลเมืองสงขลา จำนวน 60,000 บาท ตั้งชื่อว่า “เงือกทอง” เป็นสัญลักษณ์ของแหลมสมิหลาสงขลา มาจนทุกวันนี้ และเป็นหนึ่งในสามสัญลักษณ์ที่โดดเด่นของแหลมสมิหลา นอกจากเกาะหนู และเกาะแมว
“นางเงือก” เป็นนางในวรรณคดีไทย เรื่องพระอภัยมณี ของสุนทรภู่ เอกกวีในสมัยรัชกาลที่ 2 (พ.ศ.2352-2367) ตามคำบอกเล่าของขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) นิทานปรัมปราไทย เรื่องหนึ่งมีว่า ในคืนท้องฟ้างาม ณ ชายหาดสวยแห่งหนึ่ง จะมีนางเงือกขึ้นจากทะเลมานั่งหวีผมอยู่ คืนหนึ่งมีชายหนุ่มชาวประมงไปพบเข้า นางเงือกตกใจหนีลงน้ำไป ทิ้งหวีทองคำไว้ ชาวประมงผู้นั้นเฝ้าแต่รอคอย แต่นางเงือกก็ไม่ปรากฏตัวอีกเลย