นครศรีธรรมราช - พลังงานจังหวัดนครศรีฯ เปิดรับฟังความเห็นกรณีสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน อ.หัวไทร อีกครั้ง โดยพบว่ามีกลุ่มมวลชนนอกพื้นที่ร่วมประชุมสนับสนุนการก่อสร้าง ด้านแกนนำฝ่ายต่อต้าน เผยพบพิรุธปิดกั้นไม่ให้ฝ่ายคัดค้านเข้าร่วมประชุม ฝ่ายเกษตรกรเลี้ยงกุ้งหวั่นโรงไฟฟ้าทำบ่อกุ้งพัง สูญเสียรายได้เข้าประเทศนับพันล้านบาท
วันนี้ (24 ก.ค.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในจังหวัดกระบี่ ถูกต่อต้านอย่างหนัก ทำให้เป็นปัจจัยในการเคลื่อนไหวโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินใน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เริ่มขยับเตรียมการก่อสร้างอีกครั้ง โดย นายสุรเชษฐ์ หรดี พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ออกหนังสือเชิญผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อเข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการศึกษาโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินสะอาด โดยใช้ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานพลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีการเชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำ อสม. และกลุ่มต่างๆ เข้าร่วม โดยมี นายกณพงศ์ เทพากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักประสานความร่วมมือระหว่างประชาชน กระทรวงพลังงาน เป็นประธานในการประชุม
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า มีกลุ่มมวลชนกลุ่มหนึ่งที่สนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในอำเภอหัวไทร เข้าประชุมติดตามความเคลื่อนไหวเช่นกัน ซึ่งมวลชนกลุ่มนี้ล้วนแต่เป็นกลุ่มมวลชนนอกพื้นที่อำเภอหัวไทร ซึ่งเคยเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเรียกร้องที่ดินทำกิน โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง ซึ่งไม่เคยปรากฏมีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการสนับสนุนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในอำเภอหัวไทรมาก่อน ซึ่งพบว่า มีการจัดตั้งขึ้นมาจากทีมมวลชนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต และได้นำเสนอโครงการบางอย่างผ่านไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มผู้สนับสนุนที่มาจากภายนอกพื้นที่อำเภอหัวไทร เข้ามาเคลื่อนไหวในทางตรงข้ามกับคนในพื้นที่
นายประเสริฐ คงสง แกนนำกลุ่มมวลชนกลุ่มที่คัดค้านโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในอำเภอหัวไทร ได้กล่าวในที่ประชุมว่า ทราบเรื่องภายหลังที่มีการออกหนังสือเชิญไปยังกลุ่มต่างๆ แต่ไม่ได้รับเชิญจึงติดตามเข้าร่วมรับฟังการประชุม และแสดงความเห็นในการคัดค้าน จึงพบข้อพิรุธในเรื่องการปิดกั้นไม่ให้ประชาชนที่คัดค้านโครงการเข้าร่วมแสดงความเห็นในการประชุมหลายครั้ง โดยเฉพาะลำดับขั้นตอนความเคลื่อนไหว และหนังสือที่ยืนยันมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เองที่ระบุว่า ยังไม่มีแนวคิดในการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ อ.หัวไทร แต่กลับมีความเคลื่อนไหวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตอย่างต่อเนื่อง
“ตามกระบวนการที่ออกมาแล้ว และมีเอกสารชัดเจน โครงการนี้ชั้นแรกจะมีโรงฟ้าในอำเภอหัวไทร 1 โรง ขนาด 800 เมกะวัตถ์ ถัดมาเปลี่ยนเป็น 2 โรง โรงละ 400 เมกะวัตถ์ และเมื่อมาถึงขั้นตอนของการศึกษาพบว่ากลายเป็น 2 โรง โรงละ 800 เมกะวัตถ์ อำเภอหัวไทร มีโรงไฟฟ้ากระจุกอยู่ 2 โรง 1,600 เมกะวัตถ์ ผลิตให้ใครใช้” นายประเสริฐกล่าว
ขณะที่ นายบุญเยือน รัตนวิชา ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง แสดงความเห็น และข้อกังวล ว่า หากมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นระบบการเลี้ยงกุ้งของลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งเป็นพื้นที่พัฒนาการเกษตรในโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จะล้มเหลว ซึ่งแต่ละปีอุตสาหกรรมเลี้ยงกุ้งในลุ่มน้ำปากพนัง สามารถสร้างเม็ดเงินได้ถึงปีละกว่า 5 พันล้านบาท และขณะเดียวกัน ยังขัดต่อคำสั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่จัดให้พื้นที่ชายฝั่งทะเลเป็นโซนนิ่งในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
“สิ่งที่น่ากังวลคือ การขึ้นทะเบียนฟาร์มเลี้ยงกุ้งจะมีข้อบังคับที่สำคัญ คือ ฟาร์มเลี้ยงกุ้งจะต้องไม่อยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการปนเปื้อน ขณะที่มีหนังสือชัดเจนจากประมงจังหวัดถึงแนวโน้มของการปนเปื้อนหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เมื่อเป็นเช่นนั้น 2 ส่วนที่จะเกิดขึ้นคือ ไม่สามารถขึ้นทะเบียนฟาร์มได้ และกุ้งที่เลี้ยงได้เสี่ยงต่อการปนเปื้อนส่งออกไม่ได้ ต่างประเทศไม่ซื้อแน่นอน การเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังต้องจบไปโดยปริยาย” ผู้จัดการสหกรณ์เลี้ยงกุ้งปากพนังกล่าว
ภายหลังจากการแสดงความเห็นท่ามกลางบรรยากาศที่ตึงเครียด นายกณพงศ์ เทพากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักประสานงานความร่วมมือระหว่างประชาชน กระทรวงพลังงาน ยอมรับว่าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในอำเภอหัวไทร แม้ว่าจะเป็นไปตามแผนพัฒนาพลังงานประเทศ แต่พบว่า มีปัญหาการไม่ยอมรับของประชาชน และมีความแตกแยกที่เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องมีการรวบรวมข้อมูลส่งไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และกระทรวงพลังงาน เพื่อรับทราบข้อมูลในส่วนนี้