xs
xsm
sm
md
lg

นักท่องเที่ยวเล่นน้ำที่ จ.ภูเก็ต ถูกพิษแมงกะพรุนห้ามส่ง รพ.สุดท้ายไม่เป็นอะไรมาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - นักท่องเที่ยวต่างชาติลงเล่นน้ำที่หาดในทอน จ.ภูเก็ต แพ้พิษแมงกะพรุนต้องหามส่งโรงพยาบาล แต่สุดท้ายไม่เป็นอะไรมาก หมอให้กลับไปพักผ่อนที่โรงแรม เผยช่วงมรสุมจะพบแมงกะพรุนถูกคลื่นซัดเข้าหาฝั่งจำนวนมาก เตือนนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำต้องระวัง ขณะที่การแก้พิษให้รีบตัดหนวดของแมงกะพรุนออกจากร่างกาย

วันนี้ (18 ก.ค.) ที่บริเวณหาดในทอน อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดประจำหาดในทอน ต้องช่วยกันปฐมพยาบาลนักท่องเที่ยวสาวชาวรัสเซีย ซึ่งมือไปสัมผัสกับแมงกะพรุนสีฟ้า หรือแมงกะพรุนไฟ (Blue bottom jellyfish) จนเกิดอาการช็อก ขณะที่กำลังลงเล่นน้ำที่บริเวณชายหาดในทอน โดยเจ้าหน้าที่ได้นำเครื่องช่วยหายใจมาสวมให้แก่นักท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีอาการหายใจไม่สะดวก และนำตัวส่งโรงพยาบาลถลาง เพื่อให้การรักษา โดยในเบื้องต้นพบว่า นักท่องเที่ยวรายดังกล่าวไม่เป็นอะไรมาก และหมอให้รอดูอาการระยะหนึ่งจนกระทั่งพบว่าอาการดีขึ้นตามลำดับจึงให้เดินทางกลับไปพักผ่อนที่โรงแรม

โดยชาวบ้านบริเวณหาดในทอน กล่าวว่า ช่วงนี้จะมีแมงกะพรุนลอยเข้ามาบริเวณชายหาดจำนวนมาก เนื่องจากเป็นช่วงมรสุม ซึ่งบางชายหาดก็มีการติดป้ายเตือนนักท่องเที่ยวให้ระวังอย่าเอามือไปสัมผัสกับแมงกะพรุนที่ลอยมากับน้ำทะเลเพราะอาจจะเป็นอันตรายได้ ซึ่งแมงกะพรุนไฟจะมีลักษณะสีฟ้าสดใส สวยงาม น่าสัมผัส แต่เมื่อไปถูก หรือสัมผัสจะได้รับอันตรายจากพิษของแมงกะพรุนทันที แม้แต่ตัวที่ตายแล้วก็ยังมีพิษ อย่างไรก็ตาม อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นกรณีมีคนถูกพิษของแมงกะพรุนด้วย เพื่อลดความรุนแรงของพิษ และช่วยเหลือผู้ที่ถูกพิษอย่างถูกต้อง

ขณะที่ ดร.จรัสศรี อ๋างตันญา นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน กล่าวว่า ในช่วงมรสุมตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค.ของทุกปี ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จะพบแมงกะพรุนดังกล่าวถูกคลื่นซัดเข้ามาบริเวณชายฝั่งจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งที่เป็นแมงกะพรุนมีพิษ และไม่มีพิษ สำหรับแมงกะพรุนชนิดสีฟ้า หรือ เป็นแมงกะพรุนแบบมีพิษในกลุ่ม Hydrozoa วงศ์ Physalidae ชนิด Physalia sp ชื่อภาษาอังกฤษ คือ Portuguese Man O’War หรือ Blue bottle ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มแมงกะพรุนไฟ พบได้ทั่วไปในเขตน้ำอุ่น และจากการสำรวจพบว่า มีเฉพาะที่บริเวณชายหาดจังหวัดภูเก็ตเท่านั้น

ซึ่งอาการแพ้ของคนที่สัมผัสแมงกะพรุนดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน บางคนแพ้มากถึงกับมีการแน่นอก หายใจไม่ออก และมีการช็อก แต่บางคนก็มีอาการเจ็บปวดเล็กน้อยเท่านั้น และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตจากการสัมผัสแมงกะพรุนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเลย และก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทางศูนย์วิจัยและพัฒนา ทช. ทะเลอันดามัน ได้รับแจ้งจากเครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยวเกาะราชา ว่า พบนักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บจากการสัมผัสแมงกะพรุนไฟ : Portuguese man-of-war ชนิด Physalia utriculus ซึ่งเป็นชนิดที่พบนอกฝั่ง และช่วงคลื่นลมรุนแรงจึงถูกพัดพาเข้าสู่พื้นที่ชายฝั่ง ทำให้คนที่สัมผัสมีอาการเจ็บปวด

อย่างไรก็ตาม สำหรับการปฐมพยาบาลในเบื้องต้นสำหรับผู้ที่สัมผัสแมงกะพรุนไฟ ให้รีบขึ้นมาจากทะเลโดยเร็วที่สุด และให้ใช้บัตรแข็ง เช่น บัตรเอทีเอ็ม หรืออะไรที่มีลักษณะคล้ายกันนำมาปาดบริเวณที่โดยพิษเพื่อตัดหนวดของแมงกะพรุนที่ติดอยู่บริเวณร่างกายให้เร็วที่สุด หลังจากนั้นให้ใช้น้ำทะเลล้าง และรีบไปพบแพทย์ เพราะคนที่โดยพิษจะมีภูมิต้านทานไม่เหมือนกัน บางคนมีอาการเพียงแค่เล็กน้อย แต่บางคนมีอาการรุนแรงถึงขั้นช็อกหมดสติได้
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น