สตูล - รองผู้ว่าราชการ จ.สตูล รับมอบอาคารฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิเศษ จากบริษัทเอสซีจีซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เพื่อใช้เป็นอาคารในการบำบัด และฟื้นฟูสมรรถภาพ
วันนี้ (17 ก.ค.) นายวีรนันท์ เพ็งจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นประธานในพิธีรับมอบอาคารฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิเศษ จ.สตูล จากบริษัทเอสซีจีซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ในเครือเอสซีจี ซึ่งดำเนินการสร้างอาคารดังกล่าวให้จนแล้วเสร็จสมบูรณ์ ขึ้นที่ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสตูล ต.คลองขุด อ.เมือง จ.สตูล โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวชื่นชมที่บริษัทเอสซีจีซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ในเครือเอสซีจี ได้พิจารณาคัดเลือกศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสตูล เป็นหนึ่งใน 10 จังหวัดทั่วประเทศเพื่อสร้างอาคารสาธารณประโยชน์ เพื่อใช้เป็นอาคารในการบำบัด และฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการในจังหวัดสตูล เพื่อให้เด็กพิการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตามศักยภาพของเด็กพิการ
ทางด้าน นางอนุสรา อรัญวัฒนานนท์ ผู้จัดการสื่อสารแบรนด์ บริษัทเอาซีจีซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ในเครือเอสซีจี กล่าวว่า การสร้างอาคารดังกล่าวนี้ เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ A Place We Stand 100 ปี ตราช้าง สร้างเพื่อให้เป็นโครงการเพื่อสังคมในวาระครบรอบ 100 ปี ของตราช้าง เพื่อตอบแทนทุกความเชื่อมั่นที่คนไทยมีให้แก่แบรนด์ตราช้างตลอด 100 ปีที่ผ่านมา ร่วมแบ่งปัน และสร้างพื้นที่แห่งความสุขใน 10 จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยการสร้าง 10 สิ่งปลูกสร้างสาธารณประโยชน์ เน้นการออกแบบฟังก์ชันที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนในแต่ละพื้นที่ ที่มีความขาดแคลนแตกต่างกันไป เช่น ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน อาคารกิจกรรมบำบัดเด็กพิการ อาคารอเนกประสงค์ อาคารเรียน และห้องสมุด
สำหรับเกณฑ์การคัดเลือกพิจารณาจาก 3 หมวดหลัก คือ การมุ่งพัฒนาเด็กและเยาวชน การมุ่งพัฒนาชุมชนที่ได้รับรางวัลหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงในด้านต่างๆ ตามพระราชดำริ และการให้ความช่วยเหลือ และพัฒนาในด้านสุขภาพ และอนามัยในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและทุพพลภาพ โดยศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสตูล ได้รับการคัดเลือกเข้าโครงการฯ ในลำดับที่ 3 โดยจัดอยู่ในหมวดการให้ความช่วยเหลือและพัฒนาในด้านสุขภาพและอนามัยในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและทุพพลภาพ
นายสัญญา ศรีสัญญาสน์ ผอ.ศูนย์ฯ กล่าวว่า สำหรับศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสตูล มีเด็กที่เป็นผู้พิการอยู่ในความดูแลของศูนย์ฯ ประมาณ 200 คน แต่เด็กที่มาใช้บริการศูนย์มีประมาณ 90 คน โดยแบ่งมาวันละ 40 คน เนื่องจากสถานที่ไม่อำนวย และบางส่วนไม่สามารถเดินทางมาได้จึงมีครูและพี่เลี้ยงเข้าไปฝึกและสอนให้กับผู้ปกครองถึงบ้าน สำหรับทางศูนย์ฯจะเปิดให้บริการทุกวัน ยกเว้นวันศุกร์พี่เลี้ยงจะออกดูแลตามบ้าน โดยเด็กพิการที่ทางศูนย์ฯ ให้การดูแลนั้นมีอายุตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 19 ปี และมีเด็กพิการพิเศษที่อยู่ในการดูแลมากที่สุด ซึ่งมีตั้งแต่อายุในวัยแรกเกิด จนถึง 15 ปี
ทุกวันนี้ทางศูนย์ฯ จะมีเครื่องมืออุปกรณ์ในการวัดประเมินเด็กแต่ไม่มีสถานที่เก็บที่ดี ทำให้เสื่อมเสียหายได้ อักทั้งอาคารสถานที่ของศูนย์ที่ใช้ทำการบำบัดรักษานั้นถูกดัดแปลงมาจากแฟลตภารโรงเก่า จึงไม่เอื้ออำนวยต่อการบำบัดดูแล โดยเฉพาะผู้ป่วยที่จ้องนั่งรถเข็น เพราะไม่มีทางลาดสำหรับขึ้นลง