xs
xsm
sm
md
lg

จุฬาฯ เปิดโปรแกรม “อักขราวิสุทธิ์” ตรวจสอบลอกวิทยานิพนธ์ ใช้ร่วม 17 สถาบัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จุฬาฯ ใช้โปรแกรม “อักขราวิสุทธิ์” ตรวจสอบการลอกวิทยานิพนธ์ สารนิพนธ์ ทั้งของนิสิต อาจารย์ และผลงานเก่า ย้อนหลังถึงปี 2548 พร้อมขยายฐานข้อมูลตรวจสอบด้วยการบรรจุวิทยานิพนธ์จากอีก 17 มหาวิทยาลัย พร้อมแชร์โปรแกรมให้ใช้ร่วมตรวจสอบ หวังสร้างบัณฑิตมีคุณภาพ ลดสถาบันเสื่อมเสียชื่อเสียง

วันนี้ (25 มิ.ย.) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวภายหลังลงนามความร่วมมือทางวิชาการ “การตรวจสอบการลอกเลียนงานวรรณกรรม ด้วยโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์” ร่วมกับ รศ.ดร.อมร เพรชรสม คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยจุฬาฯ และอธิการบดีมหาวิทยาลัย 17 แห่ง ว่า จุฬาฯ ได้พัฒนาโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ มาตรวจสอบการลอกเลียนงานวรรณกรรม และการเขียนวิทยานิพนธ์ของบัณฑิตจุฬาฯ เมื่อปีการศึกษา 2556 โดยนำวิทยานิพนธ์ของบัณฑิตจุฬาฯ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2548-ถึงปัจจุบัน มาบรรจุเป็นฐานข้อมูลสำหรับตรวจสอบกว่า 1 หมื่นเล่ม เพื่อหวังให้บัณฑิตจบอย่างมีคุณภาพ เพราะที่ผ่านมาพบว่า นิสิตอาจเขียนผลงานโดยนำข้อมูลมาใช้ แต่ไม่ได้อ้างอิงที่มา ซึ่งอาจเกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวอีกว่า มาตรการนี้จะมีการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ของบัณฑิตทุกคน หากพบว่ามีการคัดลอก จะต้องแก้ไขให้ถูกต้อง และปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป จะนำโปรแกรมดังกล่าวมาใช้ตรวจสอบสารนิพนธ์ของนิสิต และอาจารย์จุฬาฯ ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ เพื่อให้การตรวจสอบขยายวงกว้าง จึงให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ ใช้โปรแกรมนี้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อให้เรามั่นใจว่าในอนาคตเด็กไทยจะต้องเป็นคนที่ซื่อสัตย์ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น เพราะที่ผ่านมาเราอาจคุ้นเคยกับการตัดแปะข้อมูลในการเขียนรายงานหรือทำการบ้านตั้งแต่เด็ก โดยไม่บอกที่มา แต่จากนี้ไปเราต้องอ้างอิงข้อมูลที่มาให้ถูกต้อง

ด้าน รศ.ดร.อมร กล่าวว่า ปัญหาการลอกเลียนวรรณกรรม เป็นปัญหาที่สร้างความปวดหัวให้กับสถาบันการศึกษาอย่างมาก เดิมจุฬาฯ ตรวจสอบด้วยโปรแกรม Turnitin แต่เนื่องจากเป็นฐานข้อมูลต่างประเทศ จึงจะใช้คู่กับโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ ซึ่งตั้งเป้าหมายว่า อีก 3 ปี เมื่อจุฬาฯครบรอบ 100 ปี จะต้องไม่มีปัญหาการลอกเลียนวรรณกรรมอีก ที่ผ่านมาเรามีการลอกเลียนวรรณกรรมในรูปแบบลอกเลียนงานของรุ่นพี่ แต่กรณีล่าสุด อาจารย์จุฬาฯตรวจพบว่า มีการลอกเลียนผลงานของจุฬาฯ โดยผู้คัดลอกอยู่ในประเทศทางตะวันออกกลาง ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบและดำเนินการ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นปัญหาข้ามชาติไปแล้ว

สำหรับโทษของการลอกเลียนวรรณกรรมนั้น ถึงที่สุดก็จะเป็นถอดใบปริญญา ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายให้กับทั้งตัวบัณฑิตและสถาบัน อย่างไรก็ตาม ภายหลังการลงนามร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 17 แห่ง จะทำให้เรามีฐานข้อมูลในการตรวจสอบกว้างขวางมากยิ่งขึ้น จากเดิมเราอาจตรวจสอบการคัดลอกในจุฬาฯเท่านั้น แต่จากนี้ไปจะสามารถตรวจสอบข้ามมหาวิทยาลัยได้” รศ.ดร.อมร กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น