กระบี่ - จังหวัดกระบี่ เอาจริงแก้ปัญหาบุกรุกป่าในพื้นที่ เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามความคืบหน้าหลัง คสช.สั่งให้แร่งแก้ปัญหาเร่งด่วนเสร็จภายใน 6 เดือน พบปี 57 มีพื้นที่ป่าถูกบุกรุก ประมาณ 2,368 ไร่ ตรวจยึดได้ 114 คดี จับผู้กระทำผิดได้ 53 คน
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (9 ก.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดกระบี่ นายสมาน แสงสอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วย พล.ต.คมศร เกตุทิพย์ ผอ.สธก.ศปป.4 กอ.รมน. ได้ประชุมร่วมกันเพื่อติดตามสถานการณ์การบุกรุก และแก้ไขปัญหาทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่จังหวัดกระบี่ หลังจากทาง คสช.ได้มีคำสั่งให้ 9 จังหวัด รวมถึงจังหวัดกระบี่ เร่งแก้ไขวิกฤตป่าไม้อย่างเร่งด่วนให้เสร็จภายใน 6 เดือน โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
นายสมาน แสงสะอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่ มีเนื้อที่ 2,942,820 ไร่ กำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เนื้อที่ 1,415,925 ไร่ มีอุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง เนื้อที่ 422,512-0-68 ไร่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จำนวน 2 แห่ง เนื้อที่ 193,688 ไร่ พื้นที่บางส่วนติดอยู่ในเขตจังหวัดตรัง และจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 1 แห่ง เนื้อที่ 30,633 ไร่ ในปี2555 จังหวัดกระบี่ มีพื้นที่ป่าสมบูรณ์ เนื้อที่ 615,400 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 20.91 ของพื้นที่จังหวัด
ทางจังหวัดมีการกำหนดแผนป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และฟื้นฟูป่าที่ถูกบุกรุก มีมาตรการ 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการป้องกันและปราบปราม เน้นการจับกุมดำเนินคดีพื้นที่บุกรุกป่าใหม่ และการรื้อถอนพืชผลอาสิน ตามมาตรา 25แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ทุกพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2557 มีพื้นที่ป่าถูกบุกรุกประมาณ 2,368 ไร่ ตรวจยึดได้ 114 คดี จับผู้กระทำผิดได้ 53 คน
นอกจากนี้ จังหวัดกระบี่ มีการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐจัดสรรที่ดินทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ที่หมดอายุการอนุญาต จำนวน 11 แปลง เนื้อที่ 63,324 ไร่ ซึ่งหมดอายุการอนุญาตตั้งแต่ ปี พ.ศ.2545ได้มีกลุ่มราษฎรจากพื้นที่ต่างๆ เข้ามาชุมนุมเพื่อเรียกร้องที่ดินทำกินในพื้นที่ดังกล่าวตลอดมา และเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 ครม.มีมติกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาการชุมนุมเรียกร้องที่ดินทำกินในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดกระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช แต่ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้
จังหวัดจึงได้ประชุมส่วนราชการผู้ประกอบการ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอหลักเกณฑ์แนวทางการปฏิบัติขอความเห็นชอบไปยังหน่วยงานส่วนกลาง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 ปัจจุบันยังไม่ได้รับการพิจารณาแต่อย่างใด ทำให้กลุ่มราษฎรจากพื้นที่ต่างๆ เข้ามาเรียกร้องที่ดินทำกินอย่างต่อเนื่อง
พล.ต.คมศร เกตุทิพย์ ผอ.สธก.ศปป.4 กอ.รมน.กล่าวว่า สำหรับจังหวัดกระบี่ ทาง คสช.ได้กำหนดให้เป็นจังหวัดนำร่องในภาคใต้ หรือเป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ เน้นย้ำ 3 เรื่อง คือ การตัดไม้ทำลายป่า การบุกรุกที่สาธารณะ และการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ ซึ่งแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องแก้ไขปัญหาให้ได้ ภายในระยะเวลา 6 เดือน