ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เริ่มแล้วจัดระเบียบชายหาดป่าตอง จนท.ทหาร ฝ่ายปกครอง และเทศบาล สนธิกำลังปูพรมตรวจสอบ และรื้อสิ่งปลูกสร้าง และร่มเตียงชายหาดที่ยังเหลือออกจากชายหาดทั้งหมด นักท่องเที่ยวเริ่มทยอยปูผ้าอาบแดด ขณะที่ผู้ประกอบการน้ำตาซึมเพราะขาดรายได้ อาชีพ ร้องขอให้จัดสรรที่ทำกินหลังจัดระเบียบ
เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (9 ก.ค.) ที่หน้าชายหาดป่าตอง บริเวณสะพานคอรัลบีช พ.อ.สมชาย โปนะทอง เสนาธิการมณฑลทหารบกที่ 41 ค่ายวชิราวุธ จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วย นายสายัญห์ ชนะชัยวงศ์ นายอำเภอกะทู้ นางเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศบาลเมืองป่าตอง และน.ต.ฉัตรไชย ดวงมณี ผบ.กองร้อยปฏิบัติการ รักษาความสงบทหารเรือที่ 13 ทัพเรือภาคที่ 3 นำกำลังเจ้าหน้าที่ทหารบก ทหารเรือ อาสาสมัครรักษาดินแดน และเจ้าหน้าที่กองช่างเทศบาลเมืองป่าตองกว่า 200 นาย เข้าปูพรมตรวจสอบพื้นที่ตลอดแนวชายหาด พร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำชายหาดที่ยังคงเหลือ หลังจากที่มีการประกาศให้ผู้ประกอบการรื้อ และเคลื่อนย้ายออกตามนโยบายจัดระเบียบชายหาดไปก่อนหน้า โดยมีผู้ประกอบการกว่า 300 ราย ที่มาห้อมล้อมขอความเห็นใจจากเจ้าหน้าที่ เนื่องจากได้รับผลกระทบ
ซึ่งในวันนี้ ที่ชายหาดยังคงมีเต็นท์ของร้านค้า เก้าอี้ เตียงชายหาด บางส่วนที่ผู้ประกอบการยังเคลื่อนย้ายออกไม่หมดวางอยู่พ้นแนวชายหาด บางรายอยู่ระหว่างเคลื่อนย้าย ขณะที่บางรายไม่มีกำลัง หรือแรงงานสำหรับรื้อถอน ต้องให้เจ้าหน้าที่เทศบาลนำกำลังเข้ารื้อถอน และเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่
พ.อ.สมชาย โปนะทอง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการประชาสัมพันธ์แก่พี่น้องที่ประกอบอาชีพไปแล้วว่าเราอนุญาตให้พี่น้องประกอบอาชีพ แต่สิ่งที่บุกรุกหาดสาธารณะเราขออนุญาตอย่าให้มี เพื่อต้องการคืนพื้นที่ชายหาดสาธารณะให้พี่น้องประชาชนโดยทั่วไป สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อน ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้มีการเก็บข้อมูลไปแล้วบางส่วน หลังจากนี้ก็จะนัดหารือกันที่เทศบาลเมืองป่าตอง เพื่อให้มีการกรอกข้อมูลทำเอกสารตามแบบฟอร์ม เพื่อที่จะได้นำไปรายงานต่อผู้บังคับบัญชาว่า มีผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อน และร่วมหาแนวทางช่วยเหลือ และจากการลงพื้นที่ดูความเรียบร้อยในวันนี้พบว่า ผู้ประกอบความให้ความร่วมมือต่อเจ้าหน้าที่ โดยมีรื้อถอนไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือเนื่องจากไม่มีรถในการขนย้ายเราจึงได้นำกำลังเข้ามาดำเนินการ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จได้เร็วๆ นี้
ด้านนางเฉลิมลักษณ์ เก็บทรัพย์ นายกเทศบาลเมืองป่าตอง กล่าวว่า หลังดำเนินการจัดระเบียบชายหาดเสร็จแล้ว เทศบาลจะต้องรับฟังปัญหาของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบไว้ก่อนล่วงหน้า และติดตามจากนโยบายจังหวัดว่าจะสามารถให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการนำพื้นที่สาธารณะมาจัดสรรให้พี่น้องผู้ประกอบการได้อีกหรือไม่ หรือจะมีแนวทางอย่างไรได้บ้าง ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีผู้ได้รับผลกระทบมาขอความเห็นใจจำนวนมาก ทางเทศบาลก็จะต้องมีการนัดหารือ พูดคุย หาแนวทางร่วมกัน
ซึ่งผู้ประกอบการที่อยู่บริเวณชายหาดป่าตองที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบชายหาดมีน่าอยู่ประมาณ 500 ราย แต่ที่ลงทะเบียนชัดเจนทั้งหมดทุกอาชีพมีจำนวน 352 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบการร่มเตียงชายหาด ที่ลงทะเบียนจำนวน 60 ราย แต่คาดว่าจะมีถึง 100 ราย หมอนวดชายหาดแจ้งไว้ 192 ราย แต่มีจริงอาจถึง 200-300 ราย และนอกจากนี้ ผู้ประกอบการเรือต่างๆ เจ็ตสกี อีกกว่า 100 ราย
การดำเนินการหลังจากนี้ก็จะต้องรอนโยบายจากจังหวัดว่าจะสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง ขณะเดียวกัน ก็ต้องขอขอบคุณคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่เข้ามาช่วยดำเนินการจัดระเบียบทั้งหมด แต่ก็จะต้องหารือว่าเมื่อได้ชายหาดสาธารณะคืนมาแล้ว ทางท้องถิ่นจะสามารถจัดสรรทำประโยชน์อย่างไรได้บ้างเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่อยู่ และทำกินบนชายหาดมาก่อนหน้า ส่วนในเรื่องอิทธิพลต่างนั้นคงไม่น่าจะมีอะไร เนื่องจากที่ผ่านมา ก็เห็นว่าพี่น้องให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา เนื่องจากจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยว ส่วนตัวแล้วไม่หนักใจต่อการทำหน้าที่หลังจากนี้ แต่ก็ถือว่าเป็นงานหนักที่จะต้องทำ เพราะมีผู้คนจำนวนมากที่ทำมาหากินอยู่บนชายหาดแห่งนี้
ขณะที่ผู้ประกอบการหลายรายก็ออกมาขอความเห็นใจเจ้าหน้าที่ เช่น นางสมมิตร ร่มชู ผู้ประกอบการร่มเตียงชายหาดที่สืบกิจการของครอบครัวมาตั้งแต่ปี 2528 เป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปี ซึ่งเป็น 1 ในผู้ได้รับผลกระทบขอให้ดำเนินการจัดระเบียบอย่างรวดเร็ว พร้อมกับขอร้องให้มีการจัดสรรการใช้ประโยชน์ ให้สามารถกลับมาทำมาหากินได้อีกครั้ง ภายใต้เงื่อนไขใดที่กำหนดก็ยอม เพราะมันคืออาชีพ จะให้ทำอย่างอื่นคงไม่รู้จะทำอะไร
ส่วนนางสว่าง แก้วแจ่ม หมอนวดชายหาด กล่าวว่า เห็นด้วยที่มีการจัดระเบียบชายหาด แต่ตนเองประกอบอาชีพหมอนวดชายหาดก็ได้รับผลกระทบ อยากให้เร่งดำเนินการ และจัดสรรให้ทำประโยชน์ได้อีก เพราะตนเองมีครอบครัว ขาดรายได้ ได้รับผลกระทบ ตามที่มีข่าวว่าการดำเนินการจะเสร็จสิ้นภายใน 1 เดือนนั้นยังคงรับได้ แต่ถ้าใช้เวลานานนับ 3 หรือ 6 เดือน คงไม่ไหวเพราะไม่มีรายได้ จะให้ไปทำงานอย่างอื่นก็คงไม่มีที่ไหนรับเพราะอายุมากแล้ว
อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ก็พบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ไม่ได้มีความตื่นตระหนกแต่อย่างใด เนื่องจากมีการประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า มีเพียงนักท่องเที่ยวบางส่วนที่เข้ามาสอบถาม เมื่อทราบว่ามีการจัดระเบียบชายหาดก็รู้สึกยินดี และเห็นด้วย ขณะที่บางส่วนมีการเข้ามาขอถ่ายภาพร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร และอาสาสมัครรักษาดินแดนที่มาปฏิบัติหน้าที่