xs
xsm
sm
md
lg

แม่ทัพภาค 4 สั่งเข้ม 4 มาตรการช่วงเดือนรอมฎอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยะลา - แม่ทัพภาค 4 สั่ง 4 มาตรการดูแลความปลอดภัย อำนวยความสะดวกประชาชนช่วงเดือนรอมฎอน ในขณะที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เผยสถิติ 10 ปี เดือนรอมฎอน เกิดเหตุไม่สงบรวมกว่า 1 พันเหตุการณ์

วันนี้ (23 มิ.ย.) เมื่อเวลา 08.30 น. พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนรอมฎอนของพี่น้องชาวไทยมุสลิม ที่จะถึงนี้ ทาง พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 ท่านมีเจตนารมณ์อันสูงสุด ให้เดือนรอมฎอน เป็นเดือนแห่งการทำความดี ให้พี่น้องมุสลิมสามารถประกอบศาสนกิจได้อย่างเต็มที่

โดยท่านแม่ทัพภาค 4 ได้สั่งการเน้นย้ำในมาตรการดูแลรักษาความปลอดภัยรวม 4 มาตรการ ประกอบด้วย การดูแลพื้นที่ให้เกิดความปลอดภัย เพิ่มความเข้มในการดูแลรักษาความปลอดภัย รวมทั้งภารกิจเชิงลับ ดูแลพื้นที่ ชุมชน และย่านเศรษฐกิจการค้า ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนในการถอดหมวกกันน็อกเมื่อเข้าสู่พื้นที่เขตเมือง เพื่อที่จะสามารถแยกแยะกลุ่มผู้ที่ไม่หวังดีที่จะเข้ามาสร้างสถานการณ์ในพื้นที่

“นอกจากนั้น ยังสั่งการให้มีความเข้มงวดการปฏิบัติตามด่านตรวจต่างๆ ให้มากขึ้น เพ่งเล็งรถยนต์ที่ถูกโจรกรรมในพื้นที่ที่อาจจะถูกนำไปใช้ก่อเหตุ รวมทั้งสารตั้งต้นที่จะนำไปประกอบเป็นวัตถุระเบิด และบุคคลตามหมายจับ ซึ่งได้สั่งการให้ตามด่านตรวจจุดตรวจเพิ่มความเข้มในการตรวจสอบแล้ว ส่วนมาตรการที่ 3 ก็ให้อำนวยความสะดวกให้แก่พี่น้องประชาชนชาวไทยมุสลิมที่สัญจรไปมา รวมทั้งผู้ที่เห็นต่าง หากมีความต้องการที่จะกลับมาประกอบศาสนกิจร่วมกับครอบครัว ก็สามารถเข้ามารายงานตัวตามโครงการพาคนกลับบ้าน

โดยทางเจ้าหน้าที่พร้อมที่จะอำนวยความสะดวกภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายต่อไป ส่วนการอำนวยความสะดวกตามจุดตรวจต่างๆ นั้น ซึ่งจะมีความเข้มข้นในการตรวจ แต่ในช่วงเวลาช่วงละศีลอดทุกด่านตรวจก็จะมีการเตรียมน้ำดื่ม รวมทั้งผลอินทผลัมแจกจ่ายให้พี่น้องประชาชน เพื่อที่จะละศีลอดได้ทันเวลา และท่านแม่ทัพภาค 4 ยังได้สั่งการให้สนับสนุนกิจกรรมรอมฎอนของพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ และปฏิบัติตามหลัก และคำแนะนำของผู้นำศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว

โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวอีกว่า สำหรับสถิติเหตุการณ์ความไม่สงบในห้วงเดือนรอมฎอน 3-4 ปี ที่ผ่านมา พบว่า ในช่วงเดือนรอมฎอน จะมีสถิติการก่อเหตุร้ายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้สืบเนื่องจากความเข้าใจผิดจากกลุ่มที่ก่อเหตุว่า การก่อเหตุในช่วงดังกล่าวจะได้บุญมากขึ้น ซึ่งในเรื่องนี้ทางผู้นำศาสนา 6 องค์กรในพื้นที่

ประกอบด้วย คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด สภาอูลาม่า สถาบันการศึกษาปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม มัรกัสนูรูลอิสลาม และชมรมมุสลิมภราดรภาพ ก็ได้มีการรวมพลังละหมาดฮายัต และประกาศเจตนารมณ์ให้ผู้ที่ทำผิด กลับตัวเป็นคนดี ประกอบศาสนกิจในช่วงเดือนรอมฎอน

ส่วนทางด้านศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้สรุปตัวเลขเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ในห้วงเดือนรอมฎอน ตั้งแต่ปี 2547 ถึง ปี 2556 ที่ผ่านมา ปี 2547 เกิดเหตุ 206 เหตุการณ์ เสียชีวิต 142 คน บาดเจ็บ 196 คน ปี 2548 เกิดเหตุ 126 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 49 คน บาดเจ็บ 51 คน ปี 2549 เกิดเหตุการณ์ 109 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 65 คน บาดเจ็บ 89 คน ปี 2550 เกิดเหตุการณ์ 131 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 82 คน บาดเจ็บ 92 คน ปี 2551

เกิดเหตุการณ์ 81 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 50 คน บาดเจ็บ 56 คน ปี 2552 เกิดเหตุการณ์ 121 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 66 คน บาดเจ็บ 168 คน ปี 2553 เกิดเหตุการณ์ 119 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 43 คน บาดเจ็บ 56 คน ปี 2554 เกิดเหตุการณ์ 90 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 53 คน บาดเจ็บ 75 คน ปี 2555 เกิดเหตุการณ์ 99 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 52 คน บาดเจ็บ 98 คน และปี 2556 เกิดเหตุการณ์ 86 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 29 คน บาดเจ็บ 105 คน รวม 10 ปี เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ จำนวน 1,168 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 631 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 986 คน
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น