xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติติดอาวุธทางปัญญาให้ชาวบ้านทำรายงาน EHIA

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กระบี่ - ม.ศิลปกร จับมือ สสส.และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ติดอาวุธทางปัญญาชาวบ้าน จัดอบอบรมสร้างเครือข่ายนักวิชาการหนุนเสริมชุมชนในกระบวนการ EHIA “แนวทางจัดทำรายงาน EHIA เพื่อดูแลเพื่อนมนุษย์”

วันนี้ (10 มิ.ย.) รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ผู้เข้ารับการอบรมโครงการ “การสร้างเครือข่ายนักวิชาการหนุนเสริมชุมชนในกระบวนการ EHIA เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 มิถุนายน 57 ที่ห้องประชุมธัญธัช โรงแรมโกลเด้น ฮิลล์ อ.เมือง จ.กระบี่ เพื่อสร้างเครือข่ายอาสาสมัครทำหน้าที่นักวิชาการ EHIA ของชุมชนในการเฝ้าระวังโครงการขนาดใหญ่ที่อาจสร้างผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง โดยมีผู้เข้าอบรม จำนวน 30 คน พื้นที่เป้าหมายของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เช่น จ. กระบี่ จ.นครศรีธรรมราช จ.ตรัง จ.ชุมพร จ.สุราษฎร์ธานี จ.ประจวบคีรีขันธ์

รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล กล่าวว่า ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และประเทศต่างๆ ของโลกแสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลของธรรมชาติ เพราะมนุษย์มุ่งสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้ตนเพื่อให้สุขสบายด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย โดยขาดความตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศทั้งระบบ ดังนั้น การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆจึงควรคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ซึ่งหากเกิดภาวะที่ไม่สมดุลย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และการดำรงชีวิตของประชาชน

การลงทุนของโครงการขนาดใหญ่ทั้งโครงการของรัฐ และเอกชนที่เข้าข่ายเป็นโครงการอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้คุ้มครองสิทธิของชุมชนไว้ ตามมาตรา 67 “สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครองส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างเป็นปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของคน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม”

โครงการที่เข้าข่ายต้องทำรายงานอีเอชไอเอ (EHIA หรือ Environment and Health Impact Assessment) เจ้าของโครงการจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาซึ่งมีทีมนักวิชาการจำนวนมากจัดทำรายงาน EHIA โดยให้ความสำคัญต่อผลลัพธ์ คือ ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) และได้รับอนุมัติ อนุญาตให้ดำเนินโครงการได้ ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงของโครงการอาจมีแง่มุมทางวิชาการที่ชี้ให้เห็นว่า การมีโครงการในพื้นที่ส่งผลกระทบให้เกิดความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และส่งผลเสียต่อการประกอบอาชีพและสุขภาพของชุมชน

อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนนั้น ถ้าผลการศึกษาเพื่อจัดทำรายงาน EHIA พบว่า ถ้าโครงการดำเนินการตามแผนแล้ว จะสร้างผลกระทบต่อชุมชนซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่นั้นมายาวนาน เจ้าของโครงการควรต้องพิจารณาป้องกัน และลดผลกระทบ เช่น ย้ายที่ตั้งของโครงการให้ห่างไกลจากชุมชน และมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชน เพื่อให้การจัดทำรายงาน EHIA มีความมุ่งหมายเพื่อดูแลเพื่อนมนุษย์มิให้ได้รับผลกระทบจากโครงการตามสิทธิชุมชนที่รัฐธรรมนูญได้ให้การรับรองไว้

ที่ผ่านมา ประชาชนซึ่งต้องเข้าร่วมในเวทีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียในขั้นตอนการทำ EHIA ยังขาดนักวิชาการมาช่วยให้ความรู้ และอธิบายถึงกระบวนการและรายละเอียดของรายงาน EHIA ว่ามีการดำเนินการครบถ้วนตามกฎหมาย และถูกหลักวิชาการหรือไม่ ชุมชนมีความหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ แต่ไม่เข้าใจถึงผลกระทบเชิงลึกของโครงการ เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน อาจจะทำให้เกิดภาวะฝนกรด ทำลายพืชผลทางการเกษตร ปล่อยมลพิษ ชุมชนขาดศักยภาพในการวิเคราะห์ความครบถ้วนของรายงาน EHIA ทั้งเชิงคุณภาพ และปริมาณ รวมทั้งประเด็นทางกฎหมาย ทำให้ประชาชนไม่สามารถชี้ประเด็นที่ต้องการให้เจ้าของโครงการศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติม เพื่อป้องกัน และลดผลกระทบต่อชุมชน จึงไม่สามารถใช้สิทธิได้ตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น การสร้างเครือข่ายนักวิชาการและนักกฎหมายในพื้นที่ซึ่งมีความถนัดในด้านต่างๆ เช่น กฎหมาย ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ด้านผลกระทบต่อสุขภาพและด้านสังคม การประกอบอาชีพที่พึ่งพาทรัพยากร จึงมีความสำคัญเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนที่จะร่วมกันสร้างเสริมสุขภาวะแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสนับสนุนชุมชนในกระบวนการอีเอชไอเอ และมุ่งหวังให้เกิดเครือข่ายของนักวิชาการศาสตร์ต่างๆ ที่สามารถประยุกต์ความรู้ในการวิเคราะห์รายงาน EHIA ของโครงการที่เข้าข่ายอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และขยายความรู้สู่ประชาชน เพื่อปกป้องสิทธิชุมชน ฐานทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น