xs
xsm
sm
md
lg

มวล.พัฒนางานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ที่เกาะลันตา จ.กระบี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ วิจัยด้านการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จังหวัดกระบี่อย่างยั่งยืน ที่สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ พร้อมสร้างโปรแกรมการท่องเที่ยวใหม่ ดึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสัมผัสวิถีชีวิต และวัฒนธรรมใน 5 ชุมชนบนเกาะลันตา

ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาการจัดการ ม.วลัยลักษณ์ ในฐานะผู้อำนวยการแผนงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดกระบี่ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยทีมนักวิจัยของหน่วยวิจัยการบริโภคและเศรษฐกิจยั่งยืน ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานกระบี่ และจังหวัดกระบี่ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ทำวิจัยการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน กรณีศึกษา หมู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยโครงการวิจัยได้ทำการศึกษาวิจัยร่วมกับชุมชน ผู้ประกอบการ และองค์กรท้องถิ่น ในการวางแผนจัดการแหล่งท่องเที่ยว ออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวก อาคาร การจัด Zoning แบ่งเขตการจัดการ การกำหนดขีดความสามารถในการรองรับทางกายภาพของเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ โดยยึดหลักการการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตชุมชน และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าต่างๆ ในเกาะลันตา

ดร.พิมพ์ลภัส พงศกรรังศิลป์ กล่าวต่ออีกไปว่า หมู่เกาะลันตา ถูกจัดวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์และการบริการการท่องเที่ยวให้เป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวเชิงนิเวศ วิถีชีวิต และวัฒนธรรม โดยทางทีมวิจัยศึกษาวิจัย และได้จัดทำเป็นโปรแกรมการท่องเที่ยวใหม่ 4 ชุมชน ในหมู่เกาะลันตา ประกอบด้วย ชุมชนบ้านร่าหมาด ซึ่งมีความเก่าแก่ และมีวัฒนธรรมเฉพาะชุมชน เช่น ลิเกป่า กาหยง รองเง็ง มีวิถีชีวิตร่วมกับธรรมชาติ มีความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น กาแฟโบราณ ข้าวซ้อมมือ ส่วนอีกหนึ่งชุมชนที่น่าสนใจ คือ ชุมชนโต๊ะบาหลิว เกาะลันตา จ.กระบี่ ซึ่งเป็นที่ตั้งและอาศัยของชาวเลอูรักลาโว้ย ซึ่งเป็นคนกลุ่มแรกที่ค้นพบเกาะลันตาเมื่อ 500 ปีที่ผ่านมา มีวิถีชีวิตอย่างเรียบง่าย ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก มีภาษา และประเพณีเป็นเอกลักษณ์

นอกจากนี้ ยังมีชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง ซึ่งเป็นชุมชนมุสลิมอาศัยบนพื้นที่ป่าชุมชนกว่า 2000 ไร่ มีความสมบูรณ์ทางด้านการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยนักท่องเที่ยวสามารถพายเรือคายัคชมความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน และปลูกหญ้าทะเล สำหรับชุมชนต่อไปได้แก่ ชุมชนเมืองเก่าศรีรายา เป็นชุมชนคนจีนที่ล่องสำเภามาตั้งรกรากค้าขายอยู่บริเวณนี้ สภาพบ้านเรือนปลูกสร้างด้วยสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกิส ในรูปแบบอาคารไม้ที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนพิพิธภัณฑ์ชุมชนที่เก่าแก่บอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน และอดีตอันรุ่งเรืองของศรีรายา และชุมชนเกาะปอ ชุมชนที่ตั้งอยู่บนเกาะที่สวยงามที่ต้องอาศัยการเดินทางจากท่าเรือเมืองเก่าศรีรายา ใช้เวลาประมาณ 15 นาที นักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมค้างคาวแม่ไก่ และนกเงือกบนเกาะปอ โดยเกาะปอ มีตำนานที่ว่า นายอำเภอเกาะลันตาที่เดินทางมารับตำแหน่งใหม่จะต้องไปรับประทานอาหารมื้อแรกที่เกาะปอ

ทั้งนี้ ภายใต้แนวทางการดำเนินงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ที่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินการวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนสังคม และเศรษฐกิจของประเทศ โครงการวิจัยดังกล่าวได้มีการนำไปสู่การพัฒนาโปรแกรมการท่องเที่ยวชุมชนในหมู่เกาะลันตาดังกล่าว และมีการนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ด้วยการนำโปรแกรมการท่องเที่ยวไปนำเสนอต่อกลุ่มเป้าหมายในต่างประเทศภายใต้โครงการ “การเชื่อมโยงผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์” ในงานมหกรรมท่องเที่ยว : ITB BERLIN 2014 (International Tourisms Borse) ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศสหพันธรัฐเยอรมนี ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันที่นิยมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ ซื้อโปรแกรมท่องเที่ยวดังกล่าวเดินทางมาสัมผัสวิถีชีวิต ชุมชน และวัฒนธรรมของเกาะลันตา จังหวัดกระบี่แล้วด้วย




 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น