ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนใน “โครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งรายจังหวัด 23 จังหวัด” เพื่อร่วมมือแก้ไขปัญหากัดเซาะอย่างบูรณาการ พบปัจจุบันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลยังรุนแรงในทุกจังหวัด
วันนี้ (23 พ.ค.) ที่โรงแรมเมโทรโพลภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้มีการประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชน “โครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรายจังหวัด 23 จังหวัด” ซึ่งทางบริษัท วิสุทธิ คอนซัลแตนท์ จำกัด ผู้ดำเนินโครงการฯ ดังกล่าว จัดขึ้น ได้รับเกียรติจาก น.ส.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม มีหน่วยงานราชการระดับจังหวัด หน่วยงานราชการระดับท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ฯ เข้าร่วม
น.ส.สมศรี อวเกียรติ ผู้อำนวยการส่วนนโยบายและแผนการบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่ง กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น ในทุกประเทศทั่วโลกมีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการกัดเซาะทั้งลักษณะทางสมุทรศาสตร์ คลื่น กระแสลม ลักษณะโครงสร้างชายฝั่ง วิศวกรรม เศรษฐกิจสังคม และชุมชน ในส่วนของประเทศไทยภายใต้การดูแลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ดำเนินการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมาโดยตลอด แต่การดำเนินงานในระดับต่างๆ ยังไม่สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างบูรณาการ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงได้จัดทำโครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรายจังหวัด 23 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มพื้นที่ 4 กลุ่ม ได้แก พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก 4 จังหวัด พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน 5 จังหวัด พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน 5 จังหวัด พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนล่าง 8 จังหวัด และพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน 6 จังหวัด
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแนวทาง กลยุทธ์ แผนงาน และโครงการป้องกันแก้ไขพัฒนาสภาพแวดล้อมชายฝั่งระดับท้องถิ่นให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ เพื่อบูรณาการแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งให้สอดคล้องกับแผนต่างๆ ที่มีในท้องถิ่น เช่น แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาจังหวัด แผนส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้จังหวัดมียุทธศาสตร์ระดับจังหวัด ด้านการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่บูรณาการทั้งในส่วนกลาง และในท้องถิ่นของจังหวัด มีแผนงานสำหรับดำเนินงานแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในระยะสั้น ปี พ.ศ.2556-2559 และระยะยาวถึงปี พ.ศ.2570 และเพื่อให้ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรายจังหวัด 23 จังหวัด เป็นยุทธศาสตร์ที่เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ดังนั้น เพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไ ด้มอบหมายให้ บริษัท วิสุทธิ คอนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินงานโครงการดังกล่าว “สำหรับการประชุมมีส่วนร่วมของโครงการในวันนี้ เป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญของโครงการ เพื่อรับฟังข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของโครงการ ร่วมแสดงความคิดเห็น ความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของแต่ละภาคส่วนในการที่จะบูรณาการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่ง โดยเป็นการแบ่งกลุ่ม เพื่อร่วมระดมความเห็น ให้ข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นปัญหา และความต้องการของภาคส่วนต่างๆ โดยผลสรุปการประชุมในวันนี้จัดเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาโครงการจัดทำยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรายจังหวัด 23 จังหวัด และเป็นยุทธศาสตร์ที่เกิดจากกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง” น.ส.สมศรี กล่าวในที่สุด
ด้านนายสมศักดิ์ พิริยโยธา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่งและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวด้วยว่า โครงการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งฯ สืบเนื่องปัจจุบันเรามีแผนพัฒนาการกัดเซาะชายฝั่งระยะยาว 20 ปี ซึ่งเป็นกรอบยุทธศาสตร์ของประเทศ ในขณะเดียวกัน เรามีกรอบแผนงบประมาณการกัดเซาะชายฝั่ง ปี พ.ศ.2554-2559 ซึ่งเป็นกรอบบูรณาการการจัดการทำแผน แต่อย่างไรก็ตาม แผนฯ ที่ทำมายังไม่สมบูรณ์ชัดเจน เนื่องจากว่าแต่ละจังหวัดที่ส่งแผนไปยังไม่มีการบูรณาการอย่างชัดเจน ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงได้จัดทำโครงการเป็นรายจังหวัด เหตุผลเพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลให้เป็นหนึ่งเดียว และที่สำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ถ้าหากว่าต่างคนต่างทำ หรือทำไปแล้วอาจจะมีผลกระทบในที่อื่นๆ เพราะฉะนั้นในการจัดทำแผนในระดับจังหวัดจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้จังหวัดมีคัมภีร์ในการที่จะแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในจังหวัดนั้นๆ
นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ได้กล่าวในส่วนของสภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยภาพรวม ดวยว่า ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้สำรวจตามแนวชายฝั่ง ซึ่งมีความยาวประมาณ 700 กิโลเมตร นั้น ปัจจุบัน พบว่ามีสภาพที่ถูกกัดเซาะอยู่ประมาณ 100 กิโลเมตร ทุกจังหวัดมีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งหมดตลอดแนว สำหรับจังหวัดภูเก็ต มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอยู่ 3 อำเภอ 14 ตำบล ซึ่งทุกจุดจะเกิดการกัดเซาะในพื้นที่เป็นอ่าว เช่น ที่ ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตรงอ่าวบริเวณปลายแหลมสะพานหิน ปัจจุบันก็จะมีการกัดเซาะชายฝั่งค่อนข้างรุนแรง
ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง นัน โดยภาพรวมเป็นเรื่องของธรรมชาติ ระบบการเคลื่อนย้ายของตะกอนออกไปนอกระบบทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง เกิดจากการกระทำของมนุษย์ สร้างสิ่งก่อสร้างรุกล้ำเข้าไป ทำให้ระบบนิเวศชายฝั่งเสียหายไป เกิดจากการที่ไม่ช่วยกันดูแลทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีป่าชายเลนห รือป่าชายหาดที่เป็นตัวป้องกันภัยธรรมชาติ ปัจจุบันก็มีลดน้อยลง
ขณะที่แนวทางในการป้องกันนั้น นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในแนวทางการศึกษาคือ หนึ่ง ตั้งรับโดยดูแลทรัพยากรชายฝั่งให้ดี สอง เรื่องของการสู้โดยการใช้วิศวกรรมเข้าไปช่วยเพื่อให้ดินงอกขึ้น หรือใช้โครงสร้างไปช่วยยับยั้ง เพราะฉะนั้นสิ่งพวกนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละแห่งแต่ละที่ไม่เหมือนกัน หมายความว่า เราจะต้องมีการศึกษาระบบนิเวศของอ่าวนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของระบบนิเวศ ตัวอย่างเช่น อ่าวภูเก็ต ถ้าสังเกตดูจะมีหัวหาดซึ่งมีกองหินของฝั่งหนึ่งกับหัวหาดซึ่งมีกองหินอีกฝั่งหนึ่ง นี่คือระบบนิเวศ การปรับสมดุลภายในตรงนี้เป็นเรื่องที่ธรรมชาติต้องมีอยู่แล้ว แต่ถ้าหากว่าต่างคนต่างทำ ทำที่หนึ่งกระทบอีกที่หนึ่ง เพราะฉะนั้นเราต้องดูกันทั้งระบบ ดูกันทั้งอ่าว หากปล่อยให้มันเกิดที่หนึ่ง ที่หนึ่งอาจป้องกันได้ แต่อีกที่หนึ่งอาจได้รับผลกระทบ อันนี้ก็เป็นเรื่องของแนวทางที่จะต้องบูรณาการแผนให้อยู่ในกรอบเดียวกัน