ศูนย์ข่าวภูเก็ต - มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ม.อ.ภูเก็ต จับมือสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ เตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ACM-ICPC ระดับโลก World Final 2015 ที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 17-22 พ.ค.ปีหน้า เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ และไอที
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) SIPA จัดงานแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมการจัดการแข่งขันการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ACM-ICPC World Final 2015 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) SIPA ดร.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว William B.Poucher (Ph.D) ACM Fell One : ICPC Executive Director และ Micheal J.Donahoo (Ph.D) ICPC Deputy Executive Director ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องในหาน โรงแรมเลอ เมอริเดียน ภูเก็ต บีช รีสอร์ท เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557
รองศาสตราจารย์ ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) SIPA จัดการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ACM-ICPC ระดับโลก ในปี 2558 “ACM-ICPC World Final 2015” ครั้งที่ 39 ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยบริษัท IBM มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภูเก็ต เป็นเจ้าภาพ เป็นความตั้งใจจริงที่จะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันเขียนโปรแกรมในระดับอุดมศึกษาระดับนานาชาติ ACM ครั้งที่ 39 รอบชิงชนะเลิศระดับโลก ณ จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 17-22 พฤษภาคม 2558 ทางมหาวิทยาลัยฯ และองค์กรที่เกี่ยวข้องมีความพร้อมสมัครใจ และมีความสามารถที่จะทำสิ่งนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีเป้าหมายที่จะผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดงานนานาชาติ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ทางมหาวิทยาลัยส่งเสริมให้นักศึกษาแสวงหาความรู้เชิงวิชาการอันหลากหลายในห้องเรียน และห้องแล็บ รวมถึงแสวงหาโอกาสที่จะได้รับประสบการณ์ในการเรียนรู้นอกห้องเรียนอีกด้วย ซึ่งการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ถือเป็นหนึ่งในโอกาสนั้น การจัดการแข่งขันเขียนโปรแกรมระดับภูมิภาคเอเซียในประเทศไทย
ด้านนายไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) SIPA กล่าวว่า สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) SIPA ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนการแข่งขัน ACM-ICPC World Final 2015 เป็นหน่วยงานหลักในการกำหนดทิศทาง และนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และส่งเสริมผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ มีบทบาทสูงต่อการเพิ่มมูลค่าในระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก ถือว่ามีความจำเป็นอย่างมากต่อการเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทย
การจัดแข่งขันการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ACM-ICPC มีนิสิต นักศึกษา จากสถาบันอุดมศึกษาในประเทศ และต่างประเทศเข้าร่วมการแข่งขันมากขึ้นทุกปี แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศ การสนับสนุนให้มีการแข่งขัน ACM-ICPC รอบ World Final ในปี 2015 ช่วงเดือนพฤษภาคม ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นการจัดการแข่งขันระดับโลกครั้งแรกในประเทศไทย นอกจากจะเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ และการท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษา ได้เห็นการแข่งขันในระดับโลก ซึ่งจะกระตุ้นอย่างแพร่หลาย ให้เกิดการฝึกฝนพัฒนาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ส่งผลให้เกิดบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ อันจะเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทยต่อไป
ขณะที่ ดร.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า จังหวัดภูเก็ต ขอขอบคุณผู้บริหารบริษัท ICPC และ IBM ที่ให้จังหวัดได้มีส่วนร่วมในจัดการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ACM-ICPC ระดับโลก World Final 2015 ระหว่างวันที่ 17-22 พฤษภาคม 2558 ซึ่งภูเก็ตแฟนตาซี จะถูกใช้เป็นสถานที่จัดพิธีเปิด รวมถึงสนามกีฬาจังหวัดภูเก็ต และศูนย์พัฒนาทักษะและการเรียนรู้ ICT ภูเก็ต เราจะใช้เป็นสนามแข่งขันสำหรับรอบชิงชนะเลิศระดับโลกในปี 2557 ซึ่งจังหวัดภูเก็ต กำลังดำเนินการพัฒนาให้เป็นเมือง IT เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำด้าน IT ในภูมิภาคอาเซียน ทางจังหวัดได้ให้การสนับสนุนทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคครัวเรือน ภาคเอกชน หรือภาคการศึกษา สำหรับสถาบันการศึกษานั้น เรามีความภูมิใจที่ได้สนับสนุนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันเขียนโปรแกรมในระดับอุดมศึกษาระดับนานาชาติ ACM ครั้งที่ 39 รอบชิงชนะเลิศระดับโลก ที่จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 17-22 พฤษภาคม 2558
การแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ACM-ICPC ระดับโลก ในปี 2558 “ACM-ICPC World Final 2015”
โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) SIPA และได้รับการสนับสนุนจาก IBM จัดการแข่งขันเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ACM-ICPC ระดับโลก ในปี 2558 “ACM-ICPC World Final 2015”
The ACM International Collegiate Programming Contest (ICPC) คือการแข่งขันการเขียนโปรแกรมระดับโลก จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลก และแข่งขันกันระหว่างมหาวิทยาลัยต่างๆ การแข่งขันดำเนินงานภายใต้การอุปถัมภ์ของ ACM และได้รับการสนับสนุนจาก IBM โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ Baylor University เกือบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ICPC ได้กลายมาเป็นโปรแกรมการแข่งขันระดับโลกที่สร้างแรงบันดาลใจ และส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของนักแก้ปัญหาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และวิศวกรรมของโลก ผู้เข้าแข่งขันประกอบไปด้วยตัวแทน 3 คนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในหลายระดับของการแข่งขันระดับภูมิภาค โค้ชอาสาสมัครเตรียมทีมด้วยการฝึกอบรมอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องอัลกอริทึม (algorithms), การเขียนโปรแกรม (programming) และกลยุทธ์การทำงานเป็นทีม (teamwork strategy) มหาวิทยาลัยหลายแห่งในกลุ่ม ICPC และอาสาสมัคร ICPC ได้จัดเตรียมระบบตัดสินออนไลน์ไว้ จากการแข่งขันในระดับภูมิภาค ทีมผู้ชนะจะได้ผ่านเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ ในปีนี้มี 122 ทีมที่ผ่านเข้าไปแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ “the 2014 ACM-ICPC World Finals” สนับสนุนโดย IBM เจ้าภาพโดย Ural Federal University ในวันที่ 25 มิถุนายน 2014 ที่ Ekaterinburg, Russia
ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ACM-ICPC ระดับภูมิภาคเอเชียเป็นครั้งแรกในปี 2552
โดยภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต ต่อมา ได้มีการเห็นชอบจากคณะกรรมการของ ACM-ICPC ให้มีการจัดการแข่งขันระดับภูมิภาคเอเชียในประเทศไทยอีก 2 ครั้ง คือ ครั้งที่ 2 ในปี 2554 ที่วิทยาเขตภูเก็ต และครั้งที่ 3 ในปี 2555 ที่วิทยาเขตหาดใหญ่