ปัตตานี - กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมแม่ทัพภาค 4 ร่วมต้อนรับคณะทูตจากประเทศอินเดีย เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ แนะต้องดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยใช้แนวทางสันติวิธี ยึดหลักสิทธิมนุษยชนในการแก้ปัญหา
วันนี้ (15 พ.ค.) ที่ห้องรับรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 และคณะ ร่วมให้การต้อนรับ นายฮาท วาร์ตัน ชริงลา เอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย พร้อมคณะ และผู้แทนศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในโอกาสเดินทางมาเยือนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อรับฟังแนวทางการแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมทั้งรับทราบสถานการณ์ และประเด็นปัญหา รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันต่อไป
นายฮาท วาร์ตัน ชริงลา เอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขอชื่นชมในลักษณะและแนวทางในการจัดการของการแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหาอยู่ในขณะนี้ เพราะตนเองนั้น เข้าใจถึงสภาพปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ในประเทศอินเดีย ก็เคยประสบกับปัญหาความไม่สงบเช่นเดียวกัน เพราะทางกองทัพจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความละเอียดรอบคอบ ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ทางกองทัพเองก็มีศักยภาพในปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ตนเองเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า สถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คงจะคลี่คลาย และเป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้นต่อไป ด้วยความเข้มแข็ง และความเสียสละของเจ้าหน้าที่รัฐ
พล.ท.วลิต โรจนภักดี แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ในส่วนของการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า มีภารกิจในการรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินในพื้นที่จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดนราธิวาส และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ตามแผนการต่อสู้เพื่อเอาชนะการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยการสร้างสภาวะแวดล้อมที่เกื้อกูลต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง ด้วยแนวทางสันติวิธี โดยยึดหลักเคารพสิทธิมนุษยชนภายใต้กรอบของกฎหมาย
โดยจะต้องมีการบูรณาการในการปฏิบัติงานร่วมกัน โดยใช้กำลังของเจ้าหน้าที่เป็นหลัก เพื่อให้พี่น้องประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องทำในทุกมิติพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ ในส่วนของภาคประชาชน ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ก็เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะบุคคลที่รู้จักพื้นที่ดีที่สุดคือ พี่น้องประชาชนในพื้นที่ ดังนั้น ในเรื่องของความร่วมมือจากภาคประชาชนจึงถือเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ทั้งนี้ ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เพื่อความสงบสุขของพี่น้องประชาชน เพราะทางกองทัพไม่ได้ลงมาเพื่อทำการสู้รบแต่อย่างใด แต่มาเพื่อดูแลความปลอดภัยให้แก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพื่อความสันติสุขอย่างยั่งยืน