ศูนย์ข่าวภูเก็ต - จ.ภูเก็ต เตรียมฝึกซ้อมแผนร่วมกลุ่มจังหวัดอันดามัน 21 พ.ค.นี้ สมมติเหตุการณ์เสมือนจริง รับมือพายุหมุนเขตร้อนและคลื่นพายุซัดฝั่ง ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่จะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ช่วงเดือน พ.ค.
วันนี้ (7 พ.ค.) ที่ห้องประชุมศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต นายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการและคณะทำงานดำเนินการฝึกซ้อมแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ จากพายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) และคลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm Surge) ระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปี 2557 (จ.ภูเก็ต) มีนายเสรี พาณิชย์กุล ปลัดจังหวัดภูเก็ต ว่าที่ ร.ต.ตระกูล โทธรรม ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต ตลอดจนคณะกรรมการ และคณะทำงานฯ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการฝึกซ้อมแผนดังกล่าว ร่วมประชุม
นายจำเริญ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ปัจจุบันสาธารณภัยที่เกิดขึ้นมีความรุนแรง และเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ละครั้งเป็นสาธารณภัยที่สร้างความเสียหายให้ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm Surge) ประเทศไทยเคยเกิดปรากฎการณ์คลื่นพายุซัดฝั่งมาแล้วหลายครั้ง แต่ละครั้งนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง เช่น พ.ศ.2505 พายุที่แหลมตะลุมพุก อันเกิดจากพายุโซนร้อนแฮเรียต (Harriet) ครั้งนั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าพันคน กลายเป็นประวัติศาสตร์อันน่าโศกเศร้า ฯลฯ
สำหรับภาคใต้ฝั่งอันดามัน อยู่ติดกับทะเลอันดามัน และอ่าวเบงกอล ซึ่งอยู่ในบริเวณมหาสมุทรอินเดีย อาจได้รับผลกระทบจากพายุที่เกี่ยวขึ้นในอ่าวเบงกอล และมหาสมุทรอินเดีย คือ พายุไซโคลน ในช่วงเดือนพฤษภาคม สำหรับความเสียหายนั้นร้ายแรงกว่าสึนามิ โดยคลื่นพายุซัดฝั่ง นั้นจะเกิดขึ้นพร้อมกับพายุ สภาพอากาศจะเลวร้าย บริเวณชายฝั่งเกิดคลื่นโถมกระแทกอย่างหนัก คลื่นในทะเลสูง เมื่อศูนย์กลางของพายุเคลื่อนเข้ามาก็จะหอบเอาโดมน้ำขนาดใหญ่ ซัดเข้ามาอีกครั้ง ดังนั้น ความเสียหายจึงเพิ่มเป็นทวีคูณ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักคลื่นพายุซัดฝั่ง เนื่องจากคลื่นพายุซัดฝั่งจะเกิดขึ้นพร้อมกับพายุโซนร้อน จึงไม่ควรมองข้าม รวมทั้งการเกิดพายุหมุนเขตร้อนเป็นปัญหาสาธารณภัยที่สำคัญ เป็นภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงมาก และส่งผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง พายุหมุนเขตร้อนจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ช่วงประมาณเดือนพฤษภาคม คือ พายุส่วนใหญ่มีแหล่งกำเนิดในอ่าวเบงกอล หรือทะเลอันดามันทางตะวันตก บริเวณที่ศูนย์กลางพายุเคลื่อนที่ผ่านมากที่สุด คือ มากกว่า 25 เปอร์เซ็นต์ ของพายุทั้งหมดที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงเดือนนี้
ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมในด้านบุคลากร รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้แก่ประชาชนในแถบกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน และเพื่อให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวมีความมั่นใจในการให้ความช่วยเหลือ และป้องกันสาธารณภัยต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต ทางศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต จึงได้ร่วมกับจังหวัดภูเก็ต จังหวัดกระบี่ และจังหวัดตรัง จัดให้มีการฝึกซ้อมแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากพายุหมุนเขตร้อน และคลื่นพายุซัดฝั่ง ระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปี 2557 ขึ้น ในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต
นายจำเริญ กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับการฝึกซ้อมแผนครั้งนี้เป็นการฝึกซ้อมแผนเสมือนจริง โดยจะสมมติเหตุการณ์มหาภัยพิบัติเกิดขึ้นพร้อมกัน และกินพื้นที่หลายจังหวัด ดังนั้น การฝึกซ้อมจะเกี่ยวกับการประสานการปฏิบัติ การบัญชาการ การเข้าเผชิญเหตุจากอาคารบ้านเรือน ที่พักอาศัยพังถล่ม และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ระบบสื่อสารขัดข้อง แต่จำเป็นต้องอพยพประชาชนจำนวนมากไปยังพื้นที่ปลอดภัย และจะต้องมีการสาธิตการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ หรือ GIS, MIS ในการจำลองสถานการณ์ เมื่อเกิดปรากฏการณ์อันเนื่องจากคลื่นที่เกิดยกระดับน้ำทะเลให้สูงขึ้นกว่าปกติ ให้สามารถบัญชาการ สั่งการ และคาดการณ์ได้ มีการใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ของศูนย์ และอุปกรณ์กู้ภัยชนิดต่างๆ อาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ในการร่วมค้นหาผู้ประสบภัย ซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความเชื่อมั่น และมั่นใจในความปลอดภัย