ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - จังหวัดสงขลา เตรียมการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ประจำปี พ.ศ.2556 แผนเผชิญเหตุอุทกภัย และน้ำหลากฉับพลัน เพื่อวิเคราะห์ปัญหา พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไขเพื่อรับมือภัยพิบัติในอนาคต
วันนี้ (13 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมลีลารีสอร์ท อ.เทพา จ.สงขลา ว่าที่ พ.ต.ธีระ สันติเมธี ผอ.ศูนย์ ปภ.เขต 12 สงขลา เป็นประธานในการเตรียมฝึกซ้อมสถานการณ์สมมติการฝึกซ้อมแผนการอพยพ และช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุโซนร้อน (ยางิ) ในทะเลอ่าวไทย โดยมีหน่วยงานจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมเตรียมการฝึกซ้อมกว่า 200 คน
ว่าที่ พ.ต.ธีระ สันติเมธี ผอ.ศูนย์ ปภ.เขต 12 สงขลา กล่าวว่า ในสภาวการณ์ปัจจุบัน สาธารณภัยไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ หรือภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น การเกิดสาธารณภัยในแต่ละครั้ง สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต และทรัพย์สินของทางราชการ และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยเป็นอย่างมาก
ประกอบกับหลักการสำคัญในการจัดการกับสาธารณภัย คือ การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน จังหวัดสงขลา จึงได้กำหนดให้มีการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ประจำปี พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นแผนเผชิญเหตุอุทกภัย และน้ำหลากฉับพลัน การฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุอุทกภัยฯ ในครั้งนี้ ดำเนินการฝึกซ้อมแบบบูรณาการทุกภาคส่วนทุกระดับ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น อำเภอ ไปสู่ระดับจังหวัด เพื่อเตรียมความพร้อม และสร้างความตระหนักให้แก่ราษฎรในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อม อีกทั้งรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน
นอกจากนี้ ยังเป็นการหาข้อบกพร่อง นำปัญหาที่เกิดขึ้นไปวิเคราะห์ และประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขข้อบกพร่องในการดำเนินงาน นำไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยการฝึกซ้อมได้มีการจำลองสถานการณ์การเกิดอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ยางิ” ระหว่างวันที่ 26-28 มิถุนายน 2556 ทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ จ.สงขลา และมีความจำเป็นที่ต้องเร่งอพยพผู้คนออกจากพื้นที่บริเวณชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ลมพัดแรง และเกิดคลื่นพัดเข้าสู่พื้นที่ชายฝั่ง อ.เทพา ทำลายบ้านเรือน และเรือประมงของราษฎรเป็นวงกว้าง ในพื้นที่ตำบลสะกอม อ.เทพ จ.สงขลา ทำให้บ้านเรือนประชาชนถูกน้ำท่วม และกระแสน้ำพัดทำลายบ้านเรือนหลายหลังคาเรือน ประชาชนได้รับบาดเจ็บ สูญหาย รวมถึงประชาชนไร้ที่อยู่อาศัยอีกหลายร้อยคน และการให้การช่วยเหลือในเบื้อต้น จังหวัดสงขลา ได้ระดมเจ้าหน้าที่ เครื่องจักร อุปกรณ์ของทุกภาคส่วนของจังหวัดสงขลาจากทุกภาคส่วน และการสนับสนุนของจังหวัดสตูล ปัตตานี และนราธิวาส เข้าช่วยเหลืออพยพผู้ประสบภัย จำนวน 350 คน ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว