ชุมพร - ด้วยแรงศรัทธาอันยิ่งใหญ่ แรงงานชาวพม่ากว่า 2,000 คน ร่วมทำบุญทอดผ้าป่า ฟังเทศนาธรรม จากพระอูตุเม็งกละ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังจากกรุงย่างกุ้ง ประเทศ เมียนมาร์ พร้อมร่วมสืบทอดตามพิธีแบบโบราณ
เมื่อเวลา 19.00 น. วันนี้ (30 เม.ย.) ที่วัดน้ำฉา ม.5 ต.ครน อ.สวี จ.ชุมพร ได้มีชาวเมียนม่าร์ กว่า 2,000 คน ที่เข้ามาทำงานอยู่ใน จ.ชุมพร และจังหวัดใกล้เคียง ร่วมงานบุญทอดผ้าป่าและฟังเทศนาธรรม จากพระอูตุเม็งกละ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังจากกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ โดยจัดพิธีการทางพระพุทธศาสนายิ่งใหญ่ตามแบบโบราณกาลของชาวเมียนม่าร์ที่ยึดปฏิบัติสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ท่ามกลางพุทธศาสนิกชนชาวเมียนม่าร์มาร่วมงานอย่างคึกคัก
สำหรับพิธีการต่างๆ ได้จัดในรูปแบบของชาวเมียนมาร์แบบดั้งเดิม ซึ่งผู้ที่มาทอดผ้าป่าและฟังเทศนาธรรม ทั้งชายหญิง ได้แต่งกายนุ่งผ้าโสร่งและผ้าถุงสีน้ำตาลและเสื้อสีขาวอย่างรัดกุมทุกคน พิธีการต่างๆ ดำเนินการได้อย่างประทับใจของผู้เข้าร่วมงาน โดยเริ่มตั้งแต่การต้อนรับตั้งแต่ซุ้มหน้าประตูหน้าวัดที่สร้างตกแต่งตามแบบฉบับศิลปะของชาวเมียนม่าร์ได้อย่างสวยงาม มีผู้ชายและผู้หญิงมายืนตั้งแถวยกมือไหว้สวัสดีและแจกน้ำ พร้อมทั้งเชื้อเชิญผู้ที่มาร่วมงานได้เข้าไปรับประทานอาหาร และพักผ่อนตามอัธยาศัยแบบยุคสมัยโบราณ ซึ่งหาชมได้ยากในประเทศไทยยุคสมัยนี้
เมื่อถึงเวลาเทศนาธรรมจะมีผู้เข้าร่วมงานเดินเป็นริ้วขบวนอย่างสวยงามเดินสวดมนต์และถือธงชาติไทย ธงชาติเมียนมาร์ และธงธรรมจักร พร้อมกับนิมนต์ พระอูตุเม็งกละ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังจากกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ ขึ้นปะรำพิธี นั่งธรรมาสน์ เพื่อเทศนาธรรม และทำพิธีร่วมทอดผ้าผ่าสามัคคีให้แก่พุทธศาสนิกชนชาวเมียนมาร์
นายอาวซอล ชาวเมียนมาร์ ผู้จัดงานบุญดังกล่าว เผยว่า ตนมาทำงานอยู่ในเมืองไทยนาน 13 ปี ซึ่งชาวเมียนมาร์ทุกคนมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาชอบเข้าวัดทำบุญ แต่แรงงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนมาก ไม่มีวัดสถานที่ปฏิบัติธรรมตามแบบของชาวเมียนมาร์ ตนจึงได้ดำเนินการจัดงานบุญในครั้งนี้ ใน จ.ชุมพร ซึ่งเป็นครั้งที่ 2 แล้ว เพื่อให้ชาวเมียนมาร์ที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ที่ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนมาทำงานในประเทศไทย ได้พบปะสังสรรค์ร่วมทำบุญกันตามประเพณีแบบโบราณที่ชาวเมียนมาร์ได้ยึดถือสืบทอดกันมานาน
“สำหรับการจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนาในครั้งนี้ ตนขอใช้สถานที่ในวัดน้ำฉา โดยมีชาวเมียนมาร์มาร่วมงานมากกว่า 2,000 คน เกินความคาดหมายที่ตั้งไว้ โดยในส่วนพิธีการต่างๆ ได้นำรูปแบบการจัดงานบุญแบบดั้งเดิมของชาวเมียนมาร์มาเป็นต้นแบบ ส่วนเงินรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว ตนได้ถวายให้กับทางวัดน้ำฉา และพระอาจารย์ที่มาจากเมียนมาร์ทั้งหมด เพื่อนำไปใช้ในกิจการสงฆ์ บำรุงพุทธศาสนาต่อไป” นายอาวซอลกล่าว