ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - โรงเรียนบ้านน้ำจาย จ.สงขลา เตรียมนำ “บ-ว- ร โมเดล” แนวทางตามพระราชดำริในหลวงมาประยุกต์ใช้ พร้อมดึงบริษัทเอกชน 2 ยักษ์ใหญ่สนับสนุน เพื่อสร้างโอกาสเยาวชนไทยก้าวไกลสู่อาเซียน
วันนี้ (22 เม.ย.) ศูนย์ศึกษาอาเซียนโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย ตำบลพะวง อ.เมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นตัวอย่างของการเตรียมความพร้อมของคนในระดับชุมชน ให้สามารถรับการเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 ศูนย์ศึกษาอาเซียนโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย มีห้องเรียนรู้เรื่องประชาคมอาเซียนที่ความพร้อมในด้านสื่อโสตทัศน์ มีการจัดการเรียนการสอนภาษามลายูให้แก่เยาวชน และประชาชนในชุมชนบ้านน้ำกระจายอย่างต่อเนื่อง เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องอาเซียนที่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ และภาคเอกชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนบ้านน้ำกระจาย สามารถดำเนินกิจกรรมการเตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชน และประชาชนในชุมชนเพื่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นเป็นเพราะโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย ใช้แนวคิด “บ ว ร โมเดล” มาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนศูนย์ศึกษาอาเซียนของโรงเรียน
“บ ว ร โมเดล” คือแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นแนวทาง การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งด้วยหลักการมีส่วนร่วมของ บ้าน วัด โรงเรียน ตลอดถึงหน่วยงานราชการ และภาคเอกชน ศูนย์ศึกษาอาเซียนโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย ได้นำหลักการ “บ ว ร โมเดล” มาใช้ในการขับเคลื่อนศูนย์ศึกษาอาเซียน โดยดึงการมีส่วนร่วมของบ้าน หมายถึงชุมชนท้องถิ่น วัด หมายรวมถึงมัสยิด หรือสถาบันศาสนา และโรงเรียน สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ เอกชน บริษัท ห้างร้าน รวมถึงกลุ่มพลังมวลชนสาขาต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนศูนย์ศึกษาอาเซียนของโรงเรียน ซึ่งพื้นที่โดยรอบของโรงเรียนบ้านน้ำกระจายเป็นที่ตั้งของโรงงาน ศูนย์การค้า และหน่วยงานราชการต่างๆ รวมถึงเป็นที่ตั้งของชุมชนที่มีความหลากหลายในเรื่องของศาสนา ด้วยความตั้งใจจริงของผู้บริหาร และคณะครูโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย ศูนย์ศึกษาอาเซียนแห่งนี้จึงได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วน
บริษัท สงขลาแคนนิ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัท แปรรูปสัตว์น้ำเพื่อการส่งออกรายใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านน้ำกระจาย เป็นตัวอย่างของความร่วมมือในรูปแบบ “บ ว ร โมเดล” บริษัทแปรรูป สัตว์น้ำแห่งนี้ได้รับการชักชวนจากผู้บริหาร และคณะครูโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย และได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาเยาวชน และประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานของบริษัทให้มีความพร้อมในการปรับตัว และสามารถสร้างโอกาสให้ตนเองได้เมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงในการสนับสนุนการพัฒนาศูนย์ศึกษาอาเซียนร่วมกับโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 โดยได้ให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณ เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็น ตลอดถึงกำลังคนซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทในการทำกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ เรื่อยมาถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ศูนย์ศึกษาอาเซียนโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย มีความพร้อม และสามารถดำเนินกิจกรรมพัฒนาเยาวชน และประชาชนในเขตพื้นที่ให้บริการของโรงเรียน อีกทั้งยังเป็นแหล่งศึกษาดูงานการเตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ที่มีหน่วยงานและคณะบุคคลให้ความสนใจมาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่อง
นายประวีณ ศรีสุวิภา กรรมการผู้จัดการทั่วไปบริษัท สงขลาแคนนิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทรู้สึกยินดีที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาการเรียนรู้เรื่องอาเซียนแก่เยาวชนและประชาชนในจังหวัดสงขลา เนื่องจากนับจากนี้ไปการเรียนรู้เรื่องอาเซียนจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากเราได้เตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ เราก็จะสามารถเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทในฐานะที่ทำธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานานกว่า 30 ปี บริษัทดำเนินกิจการอย่างมั่งคงอยู่ได้ ด้วยความร่วมมือของประชาชนบ้านน้ำกระจาย ดังนั้น การที่ได้มีโอกาสร่วมพัฒนาคุณภาพเยาวชน และประชาชนในพื้นที่ให้มีความรู้ความเข้าใจ และสามารถเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงจากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบใน ปี 2558 จึงเป็นเรื่องที่ทางบริษัทยินดี และจะให้การสนับสนุนศูนย์การศึกษาอาเซียนของโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย อย่างจริงจัง และต่อเนื่องต่อไป
ด้านนายประทีป เพ็ชรจำรัส ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย กล่าวว่า โรงเรียนรู้สึกยินดีที่ศูนย์ศึกษาอาเซียนของโรงเรียนบ้านน้ำกระจาย ได้มีภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจัง ศูนย์เรียนรู้อาเซียนแห่งนี้เป็นไปตามแนวคิด “บ-ว-รโมเดล” ที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน เช่น ชุมชน หมู่บ้าน วัด สถาบันศาสนา และหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน ได้เข้ามามีส่วนร่วม การได้รับการสนับสนุนจากบริษัทสงขลาแคนนิ่ง ทำให้สามารถมั่นใจได้ว่า ศูนย์การศึกษาอาเซียนของโรงเรียนน้ำกระจาย จะสามารถเป็นศูนย์เรียนรู้อาเซียนที่มีประสิทธิภาพของเยาวชน และประชาชนทั้งในพื้นที่ และประชาชนชาวจังหวัดสงขลาได้อย่างยั่งยืนต่อไป