ไปเที่ยวกันไหม? เที่ยวให้ได้ความรู้ ต้องไปที่นี่ “พิพิธคนดี” ศูนย์เรียนรู้ประวัติศาสตร์สุราษฎร์ธานี ซึ่งจังหวัดสุราษฎร์ธานีถือเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์อย่างยาวนาน นับตั้งแต่ได้รับพระราชทานนาม ก็เป็นเวลา 99 ปีแล้ว มีเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นหลายอย่างที่ควรจะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์
วันนี้ “เที่ยวท่องล่องใต้” พามารู้จักกับ “พิพิธเมืองคนดี” ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ในความดูแลของเทศบาลเมืองท่าข้าม ตั้งอยู่ที่อาคารเชิงสะพานจุลจอมเกล้า ถ.จุลจอมเกล้า ต.ท่าข้าม อ.พุนพิน เป็นอาคารศูนย์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองสุราษฎร์ธานี เพื่อรองรับกิจกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว และเป็นจุดเริ่มต้นของการรวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของจังหวัดสุราษฎร์ธานี อันจะเป็นต้นแบบสู่การเรียนรู้ในรูปแบบอื่นต่อไปในอนาคต
เมื่อมาถึงภายในอาคาร จะประกอบด้วยการจัดแสดงนิทรรศการ พร้อมวิดีทัศน์จอมัลติมีเดียเรื่องราวความเป็นมา และเหตุการณ์ต่างๆ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี เช่น เหตุการณ์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเยือนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทั้ง 15 ครั้ง ความเป็นมาแห่งนามพระราชทาน เหตุการณ์สำคัญของเมืองในอดีต ประวัติศาสตร์สะพานจุลจอมเกล้า เรื่องราวท่านพุทธทาส ภิกขุ ปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่ รวมถึงสวนโมกขพลาราม ฯลฯ และสามารถรับฟังธรรมะจากท่านพุทธทาสในห้องอบรม หรือเธียเตอร์ขนาดเล็ก เป็นต้น
พิพิธเมืองคนดี เปิดให้ผู้สนใจร่วมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่วันอังคาร-วันอาทิตย์ หยุดเพียงวันจันทร์วันเดียว โดยเปิดตั้งแต่เวลา 10.00-16.30 น. ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชม ผู้เดินทางมาเป็นหมู่คณะจะมีวิทยากรบรรยายเรื่องราวสาระความรู้ต่างๆ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เทศบาลเมืองท่าข้าม โทร.0-7731-2971
เมืองท่าข้าม เป็นท่าเรือริมแม่น้ำตาปีสำหรับข้ามแม่น้ำ เป็นที่ตั้งด่านชายแดนสำหรับตรวจผู้คนและเก็บภาษีอากรระหว่างเมืองไชยา กับท้องที่ลำพูน ซึ่งเป็นแขวงขึ้นเมืองนครศรีธรรมราช เป็นที่สร้างสะพานข้ามแม่น้ำตาปี ปัจจุบันคือ สะพานจุลจอมเกล้า ท่าข้ามเคยมีความสำคัญในฐานะชุมทาง และจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในฐานะชุมทาง นอกจากจะเป็นท่าเรือสำหรับข้ามแม่น้ำตาปีแล้ว ยังเป็นสถานที่สำคัญในการเดินทางติดต่อผ่านแม่น้ำตาปี ไม่ว่าจะเดินทางไปทางลำน้ำพุมดวง ไปยังคีรีรัฐนิคม พนม ตะกั่วป่า พังงา และภูเก็ต หรือไปตามลำน้ำตาปีไม่ว่าตอนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ส่งกองทัพไปตีเมืองนครศรีธรรมราชในปี พ.ศ.2321 หรือตอนที่พม่าตีเมืองนครศรีธรรมราชปี พ.ศ.2328 ต่างก็ใช้เส้นทางเดินทัพผ่านท่าข้ามทั้งสิ้น จึงเป็นจุดที่ทางฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งด่านตรวจ และตั้งกองทหารไว้กองหนึ่ง
ขณะที่ในปี พ.ศ.2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเลียบมณฑลปักษ์ใต้ ในวันที่ 28-31 กรกฎาคม 2458 ประชาชนชาวเมืองไชยา ได้มีโอกาสรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ในครั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตำบลท่าข้าม ได้มีโอกาสอันใกล้ชิดเนื่องจากการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้น พระองค์มีพระราชประสงค์ประทับแรม ณ บริเวณควนท่าข้าม ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ในปัจจุบัน
การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้น (วันที่ 28 กรกฎาคม 2458) รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จโดยเรือพระที่นั่งจากท่าข้ามไปยังบ้านดอน เพื่อพระราชทานพระแสงราชศาสตรา แล้วเสด็จกลับมาประทับแรมที่ท่าข้าม กระทั่งรุ่งเช้า (29 กรกฎาคม 2458) ได้พระราชทานนามเมืองแห่งนี้ว่า “สุราษฎร์ธานี” ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ ณ พลับพลาที่ประทับควนท่าข้าม แล้วพระองค์ได้พระราชทานนามพลับพลาที่ประทับว่า “พระตำหนักสราญรมย์” และสวนในบริเวณนั้นว่า “สวนสราญรมย์”
“พระตำหนักสราญรมย์” เป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีห้องบรรทม ห้องทรงพระอักษร ห้องเสวย และเรือนข้าราชบริพารรายรอบ เป็นการก่อสร้างจากฝีมือแรงงานของนายช่างชาวบ้านถิ่นนี้ และแวดล้อมด้วยพรรณไม้นานาชนิด อันเป็นที่สำราญพระราชหฤทัยของพระองค์ท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเสด็จฯ ครั้งนั้นแล้ว ในวันที่ 17-19 พฤษภาคม 2460 พระองค์ได้เสด็จมายังเมืองสุราษฎร์ธานี เป็นครั้งที่สอง และได้ประทับแรม ณ พระตำหนักหลังนี้เช่นเดียวกัน
ปัจจุบัน บริเวณที่ตั้งของพระตำหนักสราญรมย์ อยู่ในเขตพื้นที่ของโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ ซึ่งคงเหลือเพียงซากฐานบันไดของตัวอาคาร เนื่องจากตัวอาคาร พระธรรมวโรดมได้รื้อมาสร้างเป็นสำนักตรัณาราม คือ วัดตรณารามในปัจจุบัน