ชุมพร - ชาวประมงชุมพรสุดทน นำเรือบุกล้อมแท่นขุดเจาะน้ำมัน ปตท.สผ. ห่างจากฝั่งปากน้ำหลังสวนแค่ 18 กม. เรียกร้องให้ยุติโครงการตามสัญญา อัดผู้ว่าฯ รับใช้บริษัททุนมากกว่าประชาชน
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (10 เม.ย.) นายณัฐพงษ์ แหลมเพชร ประธานสภาเทศบาลตำบลปากน้ำหลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร พร้อมแกนนำ และชาวประมงพื้นบ้าน ชาวประมงชายฝั่ง และชาวประมงน้ำลึก ในพื้นที่ อ.ละแม อ.หลังสวน และ อ.ทุ่งตะโก กว่า 600 คน พร้อมเรือประมงราว 60 ลำ ออกไปล้อมแท่นขุดเจาะสำรวจนำมันบริเวณหน้าอ่าวปากน้ำหลังสวน ซึ่งอยู่ห่างจากฝั่งเพียง 18 กม. และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอ เนื่องจากบนชายหาดมีเรือจำลองเรือรบหลวงจักรีนฤเบศร ขนาดใหญ่ และศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่นักท่องเที่ยวแวะมาสักการะ เยี่ยมชม พักผ่อนหย่อนใจจำนวนมาก
สำหรับแท่นขุดเจาะน้ำมันแห่งนี้เป็นโครงการสัมปทาน NKWN 01 หรือโครงการ 36/27 ของบริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด ซึ่งชาวประมงทั้งหมดต้องการให้แท่นขุดเจาะน้ำมันดังกล่าวย้ายออกไป และห้ามขุดเจาะในบริเวณนี้ต่อไปอีก เพราะได้ทำให้ระบบนิเวศ และห่วงโซ่อาหารวงจรของสัตว์ทะเลได้รับผลกระทบ ส่งผลต่อการประกอบอาชีพอย่างมาก ทั้งนี้ ชาวประมงทั้งหมดได้นำเรือมารายรอบๆ อยู่บริเวณเส้นเขตหวงห้ามเข้าไปยังแท่นขุดเจาะน้ำมัน เพื่อรอผู้เกี่ยวข้องลงมารับข้อเรียกร้อง
นายณัฐพงษ์ แหลมเพชร ประธานสภาเทศบาลตำบลปากน้ำหลังสวน แกนนำกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้รับหนังสื่อชี้แจงจากทางบริษัท ปตท.สผ.สยาม จำกัด ลงนามโดย นายกิตติศักดิ์ หิรัญญะประทีบ หัวหน้าโครงการ 36/27 ว่า ทางโครงการได้ทำการหยุดขุดเจาะสำรวจน้ำมันมาตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 57 แล้ว พร้อมทั้งแจ้งว่าจะรื้อ และยกเลิกแท่นดังกล่าวนี้ให้แล้วเสร็จต้นเดือนเมษายนนี้ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น แต่กลับปรากฏว่า เครื่องขุดเจาะแท่นน้ำมันยังทำงานตามปกติอยู่ทุกวัน ชาวประมงทั้งหมดจึงต้องนำเรือออกมาทวงถามสัญญาดังกล่าว
นายณัฐพงษ์ กล่าวต่อว่า จากการที่นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผวจ.ชุมพร ได้ออกมาชี้แจงไปต่อสื่อถึงสาเหตุที่มีก้อนน้ำมันสีดำขึ้นตามชายฝั่งตั้งแต่ อ.ละแม อ.หลังสวน อ.ทุ่งตะโก และ อ.สวี เมื่อช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ไม่ได้ออกมาจากแท่นขุดเจาะแห่งนี้นั้น โดยบอกว่ามาจากการถ่ายเทน้ำมันของเรือประมงในทะเล ตนขอชี้แจงไปยัง ผวจ.ชุมพร ว่า พี่น้องชาวประมงไม่เชื่อว่าก้อนน้ำมันดังกล่าวจะมาจากการถ่ายเทของเรือประมงซึ่งเป็นน้ำมันที่มีการกลั่นแล้วก่อนนำมาใช้ คราบน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วเป็นอย่างไรคนทั่วไปรู้ดี แต่ที่พบขึ้นตามชายหาดมันมีสภาพเป็นก้อนน้ำมันดิบ จึงไม่ใช่มาจากการถ่ายเทของเรือประมง หน่วยงานของรัฐถือเป็นหน่วยงานบริการรับใช้ประชาชน ดังนั้น ควรจะออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อชาวบ้านน่าจะดีกว่า ไม่ใช่เป็นตัวแทนให้แก่นายทุน หรือบริษัทน้ำมันเสียเอง แล้วชาวบ้านจะไปพึ่งใครได้ จึงขอฝากถามไปถึง ผวจ.ชุมพรด้วย
นายณัฐพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้อีกประเด็นที่ทาง ปตท.สผ. ได้มีการท้าให้นำน้ำทะเลบริเวณที่พบคราบน้ำมันกับน้ำทะเลบริเวณใกล้แท่นขุดเจาะเอาไปพิสูจน์ว่ามีสารเป็นพิษเจือปนหรือไม่นั้น ซึ่งที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตชุมพร ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่เชื่อถือได้ นำน้ำจากจุดบริเวณดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าน้ำในบริเวณนั้นมีสารคาร์บอนมอนอกไซด์เกินมาตรฐานสากลที่กำหนด โดยมีสารคาร์บอนฯ นี้ทราบว่าสามารถทำลายสัตว์น้ำในวัยตัวอ่อน
ด้านนายวิรัตน์ ปิยะพันธ์ วิศวกรการเรือ ฝ่ายส่งกำลังบำรุงและสนับสนุนปฏิบัติการ บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ได้ลงมารับหนังสือโดยบอกแก่แกนนำชาวบ้านว่า ตนเองเพิ่งจะเดินทางมาถึงแท่นขุดเจาะสำรวจน้ำมัน โดยมีหน้าที่มารื้อถอนแท่นเจาะแห่งนี้ พร้อมกับตอบข้อชักถามของชาวประมง และได้อัดเทปคำถามการพูดคุยเพื่อนำไปเปิดให้ผู้บริหารระดับสูงของ ปตท.รับทราบ โดยนายวิรัช ได้ยืนยันต่อแกนนำ และชาวประมงว่าจะรื้อถอน และขนย้ายแท่นขุดเจาะนี้ให้แล้วเสร็จในวันที่ 13 เมษายน 2557 พร้อมทั้งมีหนังสือยืนยันยุติโครงการให้แก่แกนนำชาวประมง 1 ชุด ทำให้ชาวประมงทั้งหมดโห่ร้องแสดงความยินดี พร้อมกับนำเรือกลับเข้าฝั่งโดยให้มีเรือประมงทอดสมอลอยลำเฝ้าแท่นขุดเจาะไว้ด้วย 1 ลำ เพื่อดูว่าจะมีการรื้อถอนให้แล้วเสร็จตามสัญญาจริงหรือไม่