xs
xsm
sm
md
lg

เปลี่ยนหลังคาบ้านเป็นธนาคาร มีความคืบหน้า แต่ยังไม่ใช่แก่นสาระ! / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว (23 มี.ค.57) ผมได้นำเสนอบทความเรื่อง “เปลี่ยนหลังคาบ้านเป็นธนาคาร ติดขัดตรงไหน จะแก้ไขอย่างไร?” สาระสำคัญระบุว่า เจ้าของบ้านสามารถสร้างรายได้ให้ตนเองได้โดยการลงทุนติดแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าบนหลังคาเพื่อขายให้แก่การไฟฟ้า ถ้าได้รับการส่งเสริมผลตอบแทนที่ได้จะมากกว่าการฝากธนาคาร พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เหมือนกับการมีธนาคารเป็นของตนเองบนหลังคาบ้านตนเอง

ภาครัฐโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็ได้ริเริ่มโครงการที่เรียกว่า “พลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop)” แต่ได้ประสบกับอุปสรรคเพราะกรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่ยอมออกใบอนุญาตที่เรียกว่า “รง.4” ให้ โดยมีเหตุผลว่าแผงผลิตไฟฟ้าดังกล่าวเทียบเท่ากับเครื่องจักรขนาด 3.7 แรงม้า ซึ่งจะส่งเสียงดัง ปล่อยอากาศเสีย หรือน้ำเสียรบกวนบ้านข้างเคียงได้

ต่อมา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2557 ทางเลขาธิการสำนักงาน กกพ.ได้ออกประกาศว่า “โครงการดังกล่าวไม่ถือเป็นโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้า” ในประกาศดังกล่าวทาง กกพ.ได้เพิ่มเติมว่า “แต่เป็นกิจการที่ต้องแจ้งต่อสำนักงาน กกพ.”

นอกจากนี้ จากเว็บไซต์ของ กกพ.ยังได้ประกาศว่า “นอกจากนี้ ยังได้ให้สำนักงาน กกพ. ดำเนินการแจ้ง กฟน. และ กฟภ.ทราบ เพื่อให้ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้าในโครงการที่ได้รับการตอบรับซื้อไฟฟ้า และสำนักงาน กกพ.จะดำเนินการออกใบรับแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรับใบอนุญาตให้แก่ผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้า เพื่อนำไปยื่นต่อ กฟน. และ กฟภ. ต่อไป”

ตรงนี้แหละครับที่ผมถือว่ามีความคืบหน้า เป็นความคืบหน้าเล็กๆ แต่ผมถือว่าไม่ใช่แก่นสาระสำคัญที่แท้จริงของปัญหาเลย
 
แล้วอะไรคือแก่นของปัญหา?

เรียนตามตรงครับว่า แก่นของเรื่องนี้ต้องพูดกันยาวๆ เพราะมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกันถึงอย่างน้อย 7 มิติ ตั้งแต่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำ และการขจัดความยากจน การคอร์รัปชัน ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และสิทธิชุมชน ฯลฯ แต่คนในสังคมยุคนี้ไม่ชอบฟังอะไรยาวๆ นานๆ ผมจึงขอแค่ฉายภาพให้เห็นกรอบของแนวคิด 7 มิติเท่านั้น ดังรูป (เหมาะสำหรับคนชอบคิดอะไรลึกๆ ได้ศึกษาเพิ่มเติม)
 

 
ประกอบกับผมเองก็มีความใจร้อน อยากจะนำเสนอให้รอบด้าน และให้ทันเวลากับการลุกขึ้นเรียกร้องให้ “ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” ของ “มวลมหาประชาชน” ผมจึงต้องคิดให้มากขึ้นว่าแค่ไหนคือความเหมาะสม
 
นอกจากนี้ จากการติดตามในสื่อทั้งกระแสหลัก สื่อออนไลน์ หรือแม้แต่บนเวทีปราศรัยก็ไม่เห็นใครสนใจในประเด็นเหล่านี้เลย ทั้งๆ ที่ชาวบ้านทั่วประเทศกำลังได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งหากพิจารณาจากกรอบ 7 มุมมองข้างต้นก็ไม่สมควรจะสร้างขึ้นใหม่อีกแล้ว ไม่ว่าที่ไหนในโลกใบนี้ เพราะโลกทั้งใบสัมพันธ์ถึงกันหมด

ด้วยความในใจดังกล่าว บทความนี้จึงขอนำเสนอโดยย่อเป็นข้อๆ รวม 4 ข้อดังนี้ 

ข้อที่หนึ่ง แผนของโครงการ “พลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา” ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของตน

ตรงนี้แหละคือแก่นสาระสำคัญ จากเอกสารเผยแพร่ของ กกพ. มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ (1) สนับสนุนนโยบายของภาครัฐให้บ้านพักอาศัย และอาคารธุรกิจขายไฟฟ้าให้ฝ่ายจำหน่าย (กฟน./กฟภ.) และ (2) ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในสิ่งแวดล้อมจากการผลิตพลังงานสะอาด

แต่ในแผนการของโครงการฯ ทาง กกพ.ได้ตั้งเงื่อนไขสำคัญไว้ 2 ข้อซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของ กกพ.เอง คือ (1) ต้องไม่เป็นอาคารที่ติดตั้งมาก่อนแล้ว และไม่เป็นอาคารของหน่วยงานภาครัฐ ถ้าเป็นอาคารของนิติบุคคลต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิต และจำหน่ายไฟฟ้า

เงื่อนไขข้อนี้ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ข้อที่สองของ กกพ.อย่างสิ้นเชิง เพราะใครก็ตามถ้าได้ติดตั้งก็ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นราชการหรือติดตั้งมาก่อนก็ตาม หรือว่าเป็นการหลอกขายอุปกรณ์ใหม่

เงื่อนไขที่สอง คือ การจำกัดจำนวนการรับซื้อไว้ที่ 200 เมกะวัตต์ ถ้าคิดว่าติดตั้งหลังละ 5 กิโลวัตต์ ก็จะใช้อาคารแค่ 4 หมื่นหลังจากทั่วประเทศเท่านั้น

จริงอยู่ ความคิดของ กกพ.เป็นความคิดที่ดีครับ และการมีคำประกาศให้การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไม่ถือเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้า จัดว่าเป็นความกล้าหาญระดับหนึ่ง แต่แค่นี้ไม่พอครับ

แนวความคิดที่จะส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ของ กกพ.ดังกล่าว เป็นความคิดที่เกิดขึ้นมานานแล้วในหลายประเทศ แต่ได้รับผลสำเร็จสูงสุดในประเทศเยอรมนีเมื่อ 20 ปีก่อน กกพ.น่าจะศึกษาบทเรียนเขาบ้าง

หัวใจสำคัญของเยอรมนีคือ การไม่จำกัดจำนวน โดยตราเป็นกฎหมายว่า ใครก็ตามที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ให้สามารถป้อน (Feed In) กระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้ก่อนและไม่จำกัดจำนวน ส่งผลให้การใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นี่คือแก่นสาระสำคัญครับ

หลักการข้อนี้คือ การเปิดตลาดให้แก่ผู้ผลิตรายย่อย หรือกองทัพมดที่ถูกพ่อค้าพลังงานฟอสซิลผูกขาด และปิดกั้นมาตลอด ไฟฟ้าเป็น “สินค้า” เดียวในระบบตลาดที่จำนวนสินค้าที่ต้องการซื้อกับจำนวนสินค้าที่ต้องการขายต้องเท่ากันเสมอ ไม่เหมือนสินค้าเกษตรที่มักจะเหลือเน่าในบางฤดู

ดังนั้น หากไม่มีคำว่า “ส่งได้ก่อน” ให้แก่ผู้ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ก็จะถูกผู้ผลิตรายใหญ่ที่ใช้พลังงานสกปรก (และต้นทุนถูกกว่า) กีดกัน การจำกัดจำนวนและการต้องผ่านขั้นตอนที่หยุมหยิมเกินไปจะทำให้ประชาชนเบื่อหน่าย

ด้วยการคำนวณอย่างคร่าวๆ ของผมเองพบว่า ด้วยอัตรารับซื้อไฟฟ้าหน่วยละ 6.96 บาท และด้วยต้นทุนติดตั้งขนาด 3.6 กิโลวัตต์หลังละประมาณ 3 แสนบาท จะทำให้ได้ผลตอบแทนคิดเป็นร้อยละ 12.5 ต่อปี ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากธนาคารถึง 3-4 เท่าตัว โดยจะได้ทุนคืนภายใน 8 ปี หลังจากนั้น ก็จะได้กินยาวไปอีก 17 ปี โดยเสียค่าบำรุงรักษาเพียงเล็กน้อย

การลงทุนดังกล่าวจึงเหมือนกับการตั้งธนาคารเป็นของตนเอง บนหลังคาบ้านของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนเกษียณอายุที่พอมีเงินเหลือบ้าง แต่มูลค่าของเงินจะลดลงทุกปีเพราะอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ย

ข้อที่สอง มีผู้ตั้งข้อกังวล 2 ข้อต่อการสนับสนุนพลังงานแสงอาทิตย์โดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ คือ (1) จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงจนประชาชนทนไม่ไหว และ (2) ตอนกลางคืน หรือตอนที่ไม่มีแสงแดดติดต่อกันหลายวันจะเอาไฟฟ้าที่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ทางวิชาการเรียกว่า ไฟฟ้าฐาน (Base Load)

ในข้อแรก ผมได้คำนวณอย่างคร่าวๆ พบว่า ถ้ามีการติดตั้งแผงจำนวน 3,600 เมกะวัตต์ (ไม่ใช่แค่ 200 เมกะวัตต์ที่กำหนดไว้ในโครงการ) ด้วยราคารับซื้อดังกล่าวจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นแค่ 8 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น ในขณะที่ขณะนี้เราเสียค่าเอฟทีหน่วยละ 83 สตางค์อย่างไม่มีความชัดเจนในเหตุผล

สำหรับข้อกังวลที่สอง คือตอนไม่มีแดด และตอนฝนตกติดต่อกันหลายวัน ในประเด็นนี้เขามีเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกว่า Solar Thermal Power ซึ่งเป็นการใช้กระจกรวมแสง แล้วนำพลังงานแสงแดดไปต้มน้ำ แล้วนำไอน้ำไปผลักกังหันเพื่อผลิตไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบัน เขาสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง และตลอด 7 วัน ในที่นี้ผมขอตัดข่าวมาแปะให้ดูเป็นหลักฐานเท่านั้น
 

 
ผมอยากจะตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า อัตราการรับซื้อไฟฟ้าที่ตั้งไว้หน่วยละ 6.96 บาทนั้นน่าจะสูงเกินไป เพราะได้อัตราผลตอบแทนถึงร้อยละ 12.5 ต่อปี และในบางข้อมูลเชิงลึกว่าพบว่า ผลตอบแทนสูงถึง 25% ต่อปี เรื่องนี้ “น่าจะถึงครูอังคณา”
 
ด้วยเหตุที่กำไรงามขนาดนี้ ทำให้ผมได้รับทราบจากการร้องเรียนของชาวบ้านในบางจังหวัดว่าได้มีบริษัทที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) กำลังไล่ซื้อแบบปิดล้อมที่นาที่มีคุณภาพดีของชาวบ้านในราคาไร่ละกว่าหนึ่งแสนบาท ก็เพราะผลตอบแทนที่ได้รับการชดเชยค่อนข้างสูงมาก

จากการวิเคราะห์ผลตอบแทนจากการติดโซลาร์เซลล์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทั้งๆ ที่ไม่มีการขายไฟฟ้า (เพราะ กฟน.ไม่รับซื้อ) แต่ค่าไฟฟ้าที่ลดลงคิดเป็นมูลค่าเป็นผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 6.4 ต่อปี (หมายเหตุ เป็นการคิดคร่าวๆ นะครับ เพราะข้อมูลไม่มีความแม่นยำเพียงพอ)

ข้อที่สาม การสร้างความมั่นใจของประชาชนว่าพลังงานหมุนเวียนเป็นไปได้จริง จากบทเรียนการรณรงค์ด้านพลังงานหมุนเวียนของประเทศเยอรมนีได้ข้อสรุปว่าต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่ามันเป็นไปได้จริงๆ จากนั้นประชาชนจะร่วมกันรณรงค์ และสนับสนุนเอง ผมจึงขอนำเสนอข้อมูลอีก 2 ชิ้น

หนึ่ง ในปี 2556 เยอรมนีผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์อย่างเดียวได้ 29,300 ล้านหน่วย ไฟฟ้าจำนวนดังกล่าวมากกว่าที่คนในภาคอีสาน และภาคใต้ทั้งหมดใช้รวมกัน ทั้งๆ ที่ความเข้มของแสงแดดต่อตารางเมตรของเยอรมนีมีแค่ประมาณ 60% ของประเทศไทย

ถ้าแสงแดดมีพลังมากถึงขนาดนี้ เราจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบทั้งต่อสุขภาพ แหล่งทำหากิน รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติระดับชั้นนำของโลกไปทำไม

ในเรื่องต้นทุนแผงโซลาร์เซลล์โดยเฉลี่ยลดลงปีละ 10-15% เพื่อความมั่นใจของท่านผู้อ่าน ผมขอนำผลการศึกษาของนักวิชาการในสหรัฐอเมริกามานำเสนอดังภาพ
 

 
ในปี 2555 สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความเข้มของแสงอาทิตย์มากกว่าไทยเพียงนิดเดียว แต่เขาได้ติดแผงโซลาร์เซลล์ไปแล้ว 4,400 เมกะวัตต์ โดยมีอัตราการติดตั้งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (ภาพซ้ายล่าง) โดยมีต้นทุนการผลิตลดลงทุกปี
 
Dr.John Farrell นักวิจัยอาวุโส และผู้อำนวยการแผนกการริเริ่มพลังงานที่เป็นประชาธิปไตย (Democratic Energy Initiative) แห่ง Institute for Local Self-Reliance ได้คาดการณ์ว่า ภายในปี 2565 การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในสหรัฐอเมริกาจะเพิ่มขึ้น 68 เท่าของปี 2555 ในราคาค่าไฟฟ้าที่ต่ำกว่าค่าไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชนิดอื่น ใครไม่เชื่อก็ลองค้นคว้าดูนะครับ

ข้อที่สี่ ใช้แสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้า และกลั่นน้ำจืดเป็นของแถม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้ลงพื้นที่ในฐานะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับความรุนแรงในการจัดรับฟังความคิดเห็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 800 เมกะวัตต์ จังหวัดกระบี่ ในการนี้นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา (ผู้ร้องเรียน) ได้ตอบคำถามของผมที่ว่า ชาวลันตาใช้น้ำจืดจากที่ไหน คำตอบที่น่าสนใจมากก็คือ “ส่วนมากใช้น้ำบาดาล ซึ่งต่อไปก็จะเหมือนกับเมืองท่องเที่ยวทั้งหลายที่เป็นเกาะ เพราะน้ำเค็มจะดันเข้ามาแทนน้ำบาดาล และต่อไปน้ำบาดาลก็จะเค็มจนใช้ไม่ได้” (จากข้อมูลของชาวสวีเดนที่ทำธุรกิจบนเกาะลันตา พบว่า ชาวสวีเดนเที่ยวจังหวัดกระบีปีละ 1.5 แสนคน ในจำนวนนี้ 4 หมื่นคนจะไปเกาะลันตาด้วย)

ผมไม่ได้แสดงความเห็นอะไรในคำตอบนั้น แต่เมื่อกลับมาบ้านผมนึกขึ้นมาได้ว่า ผมเคยศึกษาเรื่องทำนองนี้ ตั้งแต่ปี 2549 คือโครงการที่เรียกว่า “Trans-Mediterranean Interconnection for Concentrating Solar Power” เป็นโครงการขนาดใหญ่มากของโลกที่ครอบคลุม 3 ทวีป คือตะวันออกกลางของทวีปเอเชีย (Middle East) ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา (North Africa) และยุโรปตะวันออก (East Europe) ถ้าเรียกย่อๆ ในเชิงพื้นที่ก็คือ EU-MENA

เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยการใช้กระจกรับ และรวมแสงอาทิตย์เพื่อต้มน้ำแล้วนำไอน้ำไปหมุนกังหันผลิตไฟฟ้า น้ำที่ใช้ต้มเป็นน้ำเค็ม ไฟฟ้าที่ได้ส่วนใหญ่จะถูกส่งไปใช้ในสหภาพยุโรป ผลพลอยได้คือ น้ำจืดที่ได้จากการกลั่นน้ำเค็ม น้ำจืดที่ได้จะใช้ในทวีปแอฟริกาซึ่งส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย และขาดแคลนน้ำจืด

โครงการนี้คิด และริเริ่มโดยกลุ่มนักวิชาการที่ชื่อว่า “สโมสรแห่งโรม (The Club of Rome)” แต่การศึกษารายละเอียดของโครงการโดยรัฐบาลสหพันธรัฐเยอรมนีเมื่อ 2549

ผลการศึกษาพบว่าไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพื้นที่ MENA จากแสงอาทิตย์ด้วยวิธีการรวมแสงดังกล่าวจะถูกส่งไปใช้ในยุโรปด้วยระบบแรงดันสูงกระแสตรง (HVDC) จะสามารถเป็นไฟฟ้าฐาน และพีกในช่วงความต้องการสูงสุดของวันได้ โดยจะสามารถส่งไฟฟ้าได้ในปี 2563 ถึงปี 2568 จำนวนปีละ 60 ล้านล้านหน่วย และจะเพิ่มเป็น 700 ล้านล้านหน่วยต่อปี ในปี 2593 โดยราคาไฟฟ้าดังกล่าวประมาณหน่วยละ 2.50 บาทเท่านั้น (ขณะนี้ประเทศไทยใช้ไฟฟ้า 1.7 แสนล้านหน่วย ในราคาประมาณหน่วยละ 3.88 บาท) 

รายงานชิ้นนี้ระบุว่า ปัจจุบันพื้นที่ MENA มีความขาดแคลนน้ำจืดถึงปีละ 6 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร แต่โครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จะสามารถผลิตน้ำจืดได้ปีละ 2.5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร

สิ่งที่ผมอยากนำเสนอในที่นี้ก็คือ ชาวเกาะลันตา ต้องฉวยโอกาสในช่วงที่โรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังอาละวาดก็คือ การร่วมกันคิด ระดมสมอง และกำหนดอนาคตของตนเอง ก่อนที่โรงไฟฟ้าถ่านหินและน้ำเค็มจะบุก

ขณะที่กำลังเขียนบทความนี้ ข่าวทางโทรทัศน์ช่องหนึ่งระบุว่า น้ำบาดาลที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่รัฐบาลสร้างให้เมื่อปี 2556 ก็เกิดเค็มจนใช้การไม่ได้ในวันนี้ ผมคิดว่าเราน่าจะกลั่นน้ำบาดาลนั้นด้วยแผงโซลาร์เซลล์ได้นะ ผมเชื่อว่าภูมิปัญญาของชาวบ้านน่าจะคิดค้นเรื่องนี้ได้ครับ

สรุป

ผมอยากจะสรุปบทความนี้ด้วยการเทียบเคียงกับคำกล่าวของประธานสโมสรแห่งโรม (ที่ระบุไว้ในรายงาน) ว่า มนุษย์ที่อาศัยอยู่ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ และภายใต้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันจะสามารถมีพลังที่แข็งแกร่งมาก เมื่อมนุษย์เริ่มต้นที่จะเข้าใจตนเองในฐานะของความเป็นชุมชน ชุมชนของคนที่สนใจเรื่องพลังงาน น้ำ และความมั่นคงของสภาพภูมิอากาศในสภาวะโลกร้อนซึ่งเชื่อมโยงถึงกัน ความเป็นชุมชนเพื่ออนาคตร่วมกันของมนุษย์ทั้งหลาย

สำหรับความหมายของ “ชุมชน” ที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไรนั้น ก็ให้เปรียบเทียบกับด้านตรงข้ามของชาวคอนโดฯ หรือบ้านจัดสรรในเมืองใหญ่ก็แล้วกันครับ
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น