กระบี่ - จังหวัดกระบี่ จมเรือรบหลวงปลดประจำการ ลำที่ 4 ที่เกาะพีพี สร้างปะการังเทียม ตามโครงการอุทยานเรียนรู้ใต้ท้องทะเล ท่ามกลางความสนใจของนักท่องเที่ยว
วันนี้ (19 มี.ค.) น.อ.นันทพล มาลารัตน์ รองเสนาธิการทัพเรือภาคที่ 3 เป็นประธานในพิธีนำเรือเกล็ดแก้ว ลงสู่ใต้ทะเล เป็นอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล เพื่อการอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แหล่งท่องเที่ยวดำน้ำจังหวัดกระบี่ ในพื้นที่เกาะพีพีเล บริเวณหน้าถ้ำพญานาค ม.7 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ โดยมีนายประจวบ โมฆรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 6 นายชวน ภูเก้าล้วน ประธานสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ และประชาชน เข้าร่วม
โดยก่อนการจมเรือหลวงเกล็ดแก้วลงสู่ใต้ท้องทะเล ได้มีพิธีวางพวงมาลาไว้อาลัยอย่างสมเกียรติ พร้อมทำการนำน้ำเข้าเรือใช้เวลานานกว่า 3 ชั่วโมง กว่าเรือจะจมดิ่งสู่ก้นทะเลทั้งลำ ท่ามกลางความสนใจของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ที่รอบันทึกภาพนาทีสุดท้ายอย่างใจจดใจจ่อ ซึ่งพิธีจมเรือดังกล่าวเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวดำน้ำของจังหวัดกระบี่ และจังหวัดฝั่งอันดามัน ตามโครงการอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเล โดยความร่วมมือระหว่างจังหวัดกระบี่ ร่วมกับกองทัพเรือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เทศบาลเมืองกระบี่ และมูลนิธิเอ็นไลฟ์
นายประจวบ โมฆรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 6 กล่าวว่า โครงการสร้างอุทยานการเรียนรู้ใต้ท้องทะเลจังหวัดกระบี่ ได้รับการอนุเคราะห์จากกองทัพเรือ มอบเรือปลดประจำการ จำนวน 4 ลำ คือ เรือตะลิบง เรือโกลำ เรือราวี และเรือเกล็ดแก้ว เพื่อจมใต้ท้องทะเลเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ โดยเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2556 ได้มีการทำพิธีวางเรือไปแล้ว จำนวน 3 ลำ ประกอบด้วย เรือตะลิบง เรือโกลำ และเรือราวี ที่บริเวณเกาะยาวาซำ เพื่อเป็นการจัดสร้างปะการังเทียม ตามโครงการอุทยานเรียนรู้ใต้ท้องทะเล จังหวัดกระบี่ และลำที่ 4 เรือเกล็ดแก้ว ทำการวางที่บริเวณถ้ำพญานาค เกาะพีพีเล โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากนายชวน ภูเก้าล้วน ประธานสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ รวมจำนวน 10 ล้านบาทเศษ
ประวัติเรือ ร.ล.เกล็ดแก้ว สังกัดกองเรือยุทธบริการ มีหน้าที่ในการส่งกำลังบำรุง ซึ่งภารกิจหลักของเรือ คือ การลำเลียงเสบียง แต่เดิมนั้นเป็นเรือห้องเย็น มีชื่อว่า นอร์เฟอร์ส (NORFROST) ของประเทศนอร์เวย์ เป็นเรือสำหรับล่าปลาวาฬ ต่อขึ้นที่อู่ PUSNES MEKANISKE VERTED เมืองอารีดาล (AREDAL) เมื่อปี พ.ศ.2491 มีขนาดกว้าง 7.75 เมตร ยาว 47.21 เมตร ระวางขับน้ำปกติ 382 ตัน กินน้ำลึกปกติ หัว 3.2 เมตร ท้าย 3.7 เมตร สูงจากแนวน้ำถึงยอดเสาหัว 15 เมตร ท้าย 13 เมตร
ซึ่งกองทัพเรือได้ทำการซื้อขายกับบริษัทเอกชน และนำกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2497 และกองทัพเรือรับอนุมัติไว้ใช้ในราชการ เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2498 จากนั้นกองเรือยุทธการมารับ เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2499 ขึ้นประจำการในสังกัด หมวดเรืออุทกศาสตร์ กรมอุทกศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.2499 โดยใช้ชื่อเรือ อป.9 (องค์การประมง) จากนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น อศ.3 เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2505 ใช้เป็นยานพาหนะในการสำรวจ สมุทรศาสตร์ วางทุ่นประโจมไฟ
ต่อมา ได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้ง จากเรือ อศ.3 เป็นเรือหลวงเกล็ดแก้ว โดยโอนจากกรมอุทกศาสตร์ ไปสังกัดกองเรือบริการ กองเรือยุทธการ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2505 เพื่อใช้เป็นเรือขนเสบียง ปลดระวางเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2554 รวมระยะเวลารับใช้ชาติ 55 ปี กองทัพเรือ ได้มอบให้จังหวัดกระบี่ ซึ่งจากนี้ไปเรือเกล็ดแก้ว จะทำหน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ตามโครงการอุทยานเรียนรู้ใต้ท้องทะเลจังหวัดกระบี่ตลอดไป