กำแพงเพชร - เกษตรกรชาวนา 3 จังหวัดรวมตัวชุมนุมหน้าฝายส่งน้ำวังยางนับพันคน เรียกร้องชลประทานปล่อยน้ำเข้านาก่อนต้นข้าวแห้งตาย หลัง ชป.แจ้งปิดฝายยาวถึงพฤษภาคม 57 แต่สุดท้ายทำได้เพียงลงชื่อยื่นข้อเรียกร้องเท่านั้น
วันนี้ (10 มี.ค.) เกษตรกรชาวนาจาก 3 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง คือ กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ ได้รวมตัวกันที่ฝายส่งน้ำ และบำรุงรักษาที่ 3 โครงการชลประทานกำแพงเพชร (ฝายวังยาง) ต.วังยาง อ.คลองขลุง จ.กำแพงเพชร ประมาณ 1,000 คน เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเลื่อนระยะเวลาการปิดฝายส่งน้ำออกไปอีกจนถึงสิ้นเดือนเมษายน เนื่องจากชาวนาที่กำลังปลูกข้าวประมาณแสนไร่จะได้รับผลกระทบจากการขาดน้ำไปหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่กำลังเจริญเติบโต
นายประดิษฐ์ คุณาเมือง นายก อบต.วังชะโอน อ.ขาณุวรลักษบุรี จ.กำแพงเพชร ตัวแทนเกษตรกรชาวนา เปิดเผยว่า เนื่องจากได้รับแจ้งจากกรมชลประทานว่า ขณะนี้น้ำในเขื่อนมีปริมาณน้อย และไม่เพียงพอต่อการส่งน้ำในเขตพื้นที่รับน้ำชลประทานเพื่อปลูกพืชฤดูแล้ง จึงจะงดส่งน้ำเข้าพื้นที่ทำการเกษตรตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม-พฤษภาคม 2557
และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดมาตรการประหยัดน้ำต้นทุนในเขื่อนเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคของประชาชน จึงไม่ส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้ง และจะไม่ช่วยเหลือหากเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังรอบ 2 แล้วประสบภัยพิบัติ
ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ตุลาคม-ธันวาคม 2556 ฝายวังยางได้หยุดการส่งน้ำให้เกษตรกรชาวนามาแล้ว ส่งผลให้เกษตรชาวนาหยุดทำนาตามไปด้วย จากนั้นตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 ได้มีการปล่อยน้ำให้เกษตรชาวนา จึงเริ่มเพาะปลูกในฤดูกาลรอบแรกได้เพียง 2 เดือนกลับต้องมาประสบปัญหาภัยแล้งจากการหยุดส่งน้ำจากฝายวังยางในวันนี้อีก จนไปถึงเดือนพฤษภาคม
ต่อมานายนฤพนธ์ คล้ายมณี นายช่างชลประทาน ระดับชำนาญงาน โครงการชลประทานกำแพงเพชร ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับเกษตรกรชาวนาว่า ขณะนี้เขื่อนภูมิพลมีน้ำน้อย เพียง 6,006 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 45 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณน้ำในอ่างที่ใช้ได้ 2,206 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 16 เปอร์เซ็นต์ และสามารถระบายปริมาณน้ำได้ 15 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อรักษาระบบนิเวศในการอุปโภคและบริโภคเท่านั้น
ส่วนเรื่องความเดือนร้อนของเกษตรกรชาวนาที่เพิ่งเพาะปลูก ให้เกษตรกรลงชื่อเพื่อจะนำเสนอปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรชาวนาไปยังต้นสังกัด ซึ่งจะแจ้งผลการดำเนินการให้เกษตรกรผู้ใช้น้ำทั้ง 3 จังหวัดได้รับทราบในวันที่ 12 มีนาคม 2557 ที่ อบต.ระหาร อำเภอขาณุวรลักษบุรี
อย่างไรก็ตาม หลังฟังคำชี้แจงเกษตรกรส่วนหนึ่งได้เดินทางกลับ แต่ยังมีเกษตรกรอีกส่วนหนึ่งได้พากันนำเศษขยะวัชพืชที่ขวางทางระบายน้ำหน้าฝายส่งน้ำออกเพื่อจะให้น้ำได้ไหลผ่านท่อระบายน้ำไปสู่ทุ่งนาของพวกเขาได้อย่างสะดวกมากขึ้น