กระบี่ - ฮือฮา! พบภาพเขียนสีโบราณอายุ 3-5 พันปี ยุคเดียวกับถ้ำผีหัวโต และลานหิน เนื้อที่กว่า 100 ไร่ ที่ภูเขาเขียน บ้านในสระ ต.เขาทอง อ.เมือง จ.กระบี่ เรียงกันรอบภูเขา 7 จุด สามารถชมวิวได้ 360 องศา ลักษณะคล้ายภูชีฟ้า จ.เชียงราย คาดเกิดจากการไหลผ่านของลาวาหลังภูเขาไฟระเบิด เตรียมเสนอกรมศิลปากร ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งโบราณสถาน
วันนี้ (17 มี.ค.) นายนิวัติ วัฒนยมนาพร กรรมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจังหวัดกระบี่ ได้เข้าสำรวจลานหินภูเขาเขียน ที่บ้านในสระ ม.1 ต.เขาทอง อ.เมือง จ.กระบี่ เนื้อที่กว่า 100 ไร่ เพื่อเตรียมเสนอองค์การบริหารส่วนตำบลเขาทอง เจ้าของพื้นที่ พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงโบราณคดี โดยลานหินดังกล่าวมีลักษณะแตกต่างจากทั่วไปพบในภาคใต้ เป็นลานหินสีน้ำตาลขนาดใหญ่ รวม 7 จุด เรียงต่อเนื่องกัน บริเวณรอบๆ ภูเขาบางจุดมีรูปร่างคล้ายแมวน้ำและพญานาค และสามารถยืนชมวิวด้านล่างได้ 360 องศา
นายนิวัติ เปิดเผยว่า พื้นที่ดังกล่าวเคยมีนักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสมาสำรวจแล้วเมื่อปี 2526 คาดว่าพื้นที่ดังกล่าวเคยมีน้ำทะเลท่วมถึง ต่อมา เกิดการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น ภูเขาไฟระเบิด ทำให้เกิดการดันตัวขึ้นของพื้นดิน และความร้อนของลาวาทำให้หน้าดินซึ่งเป็นดินเหนียวปนทราย เกิดการแข็งตัว กลายสภาพเป็นลานหิน จะเห็นร่องรอยการไหลของลาวาในหลายๆ จุด แต่ถูกทิ้งให้รกร้างไม่มีการพัฒนา จึงได้เข้ามาสำรวจอีกครั้ง ซึ่งพบว่าสภาพพื้นที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก
สำหรับพื้นที่ดังกล่าวมีลักษณะคล้ายภูชี้ฟ้า แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดเชียงราย แต่ที่นี่อยู่ในที่ราบ เหมาะแก่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเชิงโบราณคดีเป็นอย่างมาก เพราะบริเวณลานหินมีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่เศษ สามารถนั่งเล่น หรือนอนพักผ่อน ตั้งเต็นท์ค้างคืนได้อย่างสบาย และที่สำคัญยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ด้วย เพราะมีการพบภาพเขียนสีโบราณ ที่บริเวณเพิงผา 2 จุด ลักษณะรูปทรงเรขาคณิต เช่น ภาพคน ภาพสัตว์ และเรือ คาดว่าน่าจะเป็น ที่อาศัยของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์
สำหรับภาพเขียนสีที่พบ คาดว่าเกิดในสมัยเดียวกันกับถ้ำผีหัวโตแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของอำเภออ่าวลึก จ.กระบี่ อายุราว 3,000-5,000 ปี ตามที่กรมศิลปกรได้สำรวจไปแล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะได้แจ้งให้ทางกรมศิลปากรเข้ามาสำรวจภูเขาเขียนในพื้นที่ ม.1 อีกครั้ง และประสานกับทางท้องถิ่น เพื่อจัดสรรงบประมาณพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีต่อไป นายนิวัติกล่าว