xs
xsm
sm
md
lg

ยอดเหยื่อ “ภูเขาไฟเคลุด” เพิ่มเป็น 3 ศพ-สนามบิน 3 แห่งบนเกาะชวาเปิดให้บริการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องบินของสายการบิน Citilink ซึ่งจอดอยู่ที่สนามบิน Adi Sucipto เมืองยอกยาการ์ตา เมื่อวานนี้(14)
เอเจนซีส์ – สนามบิน 3 แห่งบนเกาะชวาของอินโดนีเซีย กลับมาเปิดให้บริการตามปกติในวันนี้ (15) ภายหลังจากที่มีการสั่งปิดชั่วคราว เนื่องจากผลกระทบของเถ้าถ่านภูเขาไฟเคลุด ซึ่งเวลานี้คร่าชีวิตพลเรือนไปแล้ว 3 ศพ และทำให้รัฐบาลต้องสั่งอพยพชาวบ้านอีกหลายแสนคน

เมื่อค่ำวันพฤหัสบดี (13) ทางการอิเหนาได้ประกาศยกระดับคำเตือนภูเขาไฟเคลุด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในภูเขาไฟที่มีอันตรายที่สุดบนเกาะชวา ก่อนที่การระเบิดครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นในเวลา 22.56 น.ตามเวลาท้องถิ่น

“สนามบินในเมืองมาลัง จังหวัดชวาตะวันออก และอีก 2 แห่งที่เมืองจิลาจัป และเซมารังในจังหวัดชวากลาง กลับมาให้บริการตามปกติแล้ว เครื่องบินสามารถขึ้น-ลงได้ไม่มีปัญหา ส่วนสนามบินอื่นๆ เรายังอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์” บัมบัง เออร์แวน โฆษกกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซีย ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี

สนามบินบนเกาะชวา 7 แห่ง รวมถึงสนามบินนานาชาติในเมืองสุราบายา, ยอกยาการ์ตา, โซโล และบันดุง ต้องปิดบริการลงชั่วคราวเมื่อวานนี้ (14) หลังการระเบิดของภูเขาไฟเคลุดทำให้มีเถ้าถ่านตกลงมาปกคลุมหลายเมืองทางตะวันออกของเกาะชวา

เออร์แวน ระบุว่า สนามบินเมืองบันดง และสุราบายา น่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในวันนี้ (15) ส่วนสนามบินเมืองโซโลอาจจะต้องรอถึงวันจันทร์ (17) ขณะที่สนามบินยอกยาการ์ตาจะเปิดบริการในวันอังคารที่ 18 กุมภาพันธ์

เถ้าถ่านและควันสีเทาเข้มจากปากปล่องภูเขาไฟเคลุดยังคงลอยสูงขึ้นไปบนฟ้ากว่า 3,000 เมตรในวันนี้ (15) ขณะที่ สุโตโป ปุรโว นูโกรโฮ โฆษกสำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติอินโดนีเซีย ระบุว่า กิจกรรมภูเขาไฟเริ่มจะบรรเทาเบาบางลงบ้างแล้ว

เฮอร์รี บักตี ผู้อำนวยการฝ่ายการบินของกระทรวงคมนาคมอินโดนีเซีย แถลงว่า ทางการจะเฝ้าจับตาทิศทางของเถ้าถ่านภูเขาไฟอย่างใกล้ชิดด้วยภาพถ่ายดาวเทียม

“เราได้รับแจ้งจากสำนักงานด้านภูเขาไฟเมื่อเช้าวันนี้ว่า ไม่น่าจะมีการระเบิดรุนแรงเกิดขึ้นอีก ดังนั้นการสัญจรทางอากาศ จึงสามารถให้บริการได้ตามปกติ และเราจะแจ้งความคืบหน้าให้เจ้าหน้าที่การบินทราบต่อไป” เออร์แวน ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพีวันนี้(15)

เจ้าหน้าที่ได้รับรายงานผู้เสียชีวิตจากเหตุภูเขาไฟเคลุดระเบิดแล้วอย่างน้อย 3 ราย ขณะที่ชาวบ้าน 200,000 คนได้รับคำเตือนให้อพยพ

อย่างไรก็ดี มีประชาชนบางคนที่ไม่เชื่อฟังคำเตือนของทางการ หรือพยายามกลับเข้าไปเอาทรัพย์สินมีค่าที่บ้าน ทำให้เวลานี้ที่ศูนย์พักพิงมีชาวบ้านอาศัยอยู่เพียงราวๆ 75,000 คน

ภูเขาไฟเคลุดซึ่งมีความสูง 1,731 เมตร มีประวัติคร่าชีวิตมนุษย์มาแล้วกว่า 15,000 คน ตั้งแต่ปี 1500 โดยเฉพาะในการปะทุครั้งใหญ่เมื่อปี 1568 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตมากถึง 10,000 คน

เคลุด เป็นหนึ่งในภูเขาไฟที่ยังมีพลังกว่า 130 ลูกทั่วอินโดนีเซีย เนื่องจากหมู่เกาะแห่งนี้ตั้งอยู่บนแนว “วงแหวนไฟ” ในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกที่จะมีกิจกรรมแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ภูเขาไฟซินาบุงบนเกาะสุมาตรา ซึ่งปะทุอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว เพิ่งจะเกิดการระเบิดครั้งใหญ่ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนบนเกาะนั้นไปแล้ว 16 คน
เถ้าถ่านจากภูเขาไฟเกอลุดปกคลุมเต็มท้องฟ้า เมื่อมองจากเขตมาลังในจังหวัดชวาตะวันออก เมื่อวานนี้(14)
คนปั่นรถถีบ เบจะก์ ที่หน้าวังสุลต่านในเมืองโซโล ทางตอนกลางของเกาะชวา
สภาพท้องถนนในเมืองยอกยาการ์ตา เมื่อวานนี้(14)
เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียนำผ้าใบชนิดพิเศษมาคลุมองค์เจดีย์ชั้นบนของมหาสถูปบุโรพุทโธเพื่อป้องกันเถ้าถ่านภูเขาไฟ
เจ้าหน้าที่อินโดนีเซียนำผ้าใบชนิดพิเศษมาคลุมองค์เจดีย์ชั้นบนของมหาสถูปบุโรพุทโธเพื่อป้องกันเถ้าถ่านภูเขาไฟ
เถ้าถ่านจากภูเขาไฟเกอลุดจับเป็นคราบบนรูปสลักพระพุทธองค์ในมหาสถูป บุโรพุทโธ เมืองยอกยาการ์ตา
กำลังโหลดความคิดเห็น